สถาบันอาหารจับมือเจโทรประสานความร่วมมือครั้งใหม่ ดันไทยเป็นฐานผลิตสินค้าอาหารแปรรูปเพื่อส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 1, 2017 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้มีความตกลงร่วมมือครั้งใหม่กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือเจโทร กรุงเทพฯ (THE NEW NFI-JAPAN DESK) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการด้านธุรกิจสินค้าอาหารของไทยและญี่ปุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการเติบโตของธุรกิจ โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันเวลา ลดปัญหาด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่เกิดจากการขาดข้อมูลหรือความเข้าใจผิด ทั้งนี้ เพื่อเร่งเดินหน้ากำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างจริงจัง รวมทั้งมีแนวทางในการส่งเสริมการค้าระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการกว้างขวางขึ้น ได้แก่ ผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทยและญี่ปุ่นที่ต่างต้องการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นหรือประเทศไทย หรือต้องการร่วมลงทุนเป็นพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หรือต้องการขยายธุรกิจในญี่ปุ่นหรือประเทศไทย รวมถึงต้องการนำสินค้าอาหารส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอีกด้วย

ความร่วมมือครั้งใหม่นี้แบ่งเป็นการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย 2 ด้าน คือ 1.ด้านการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษา อาทิ ข้อมูล กฎ ระเบียบ มาตรฐานสินค้าอาหาร ขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารและมาตรการใหม่ๆ ข้อมูลด้านการตลาดและแนวโน้ม และการตรวจสอบสินค้าอาหารโดยห้องปฏิบัติการทดสอบ เป็นต้น 2.ด้านการจัดสัมมนาเชิงวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ทั้งสถาบันอาหารและเจโทรมีบทบาทหลักร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นในการให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐของแต่ละฝ่ายที่มีบทบาทหน้าที่ควบคุม ดูแลงานด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง ในปี 2559 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าราว 1.3 แสนล้านบาท ขยายตัวขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากกลุ่มประเทศอาเซียน มีสินค้าหลักที่สามารถเติบโตได้ดี อาทิ ไก่ กุ้ง ทูน่ากระป๋อง อาหารพร้อมรับประทาน และสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น

ด้านนายฮิโรคิ มึทซึมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสถาบันอาหารและเจโทรในครั้งใหม่นี้ มีกรอบที่กว้างขวางขึ้น เน้นการขยายตลาดสินค้าอาหารแปรรูปโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตไปยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะตลาดอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลางซึ่งมีศักยภาพสูง จากเดิมที่สนับสนุนเฉพาะการนำเข้าส่งออกระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งจะใช้กลยุทธ์การสร้างความแข็งแกร่งด้าน Food Value Chain หรือห่วงโซ่การผลิตสินค้าอาหารแปรรูปที่นำเข้าวัตถุดิบมาจากญี่ปุ่นเพื่อมาผลิตในประเทศไทย และผลักดันให้ส่งออกไปตลาดประเทศเป้าหมาย

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่นในภาพรวม พบว่ามีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 750,300 ล้านเยน ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 ตั้งไว้ที่ 1 ล้านล้านเยน

สำหรับตลาดส่งออกสินค้าอาหารของญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ในปี 2559 พบว่าลดลง 8.2% หรือมีมูลค่าราว 32,900 ล้านเยน โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ หนังหมู ปลาโอ ปลาทูน่า และปลาซาบะ เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกที่ลดลงดังกล่าว เนื่องจากเงินเยนแข็งค่าขึ้น และสินค้าประมงจากญี่ปุ่นขาดแคลนและมีคุณภาพลดลง เนื่องจากปลาคัทสึ ปลาโอ ปลาทูน่าในทะเลมีปริมาณน้อยลง อีกทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยเชลล์ที่ฮอกไกโดซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นชั่วคราว เชื่อว่าในปี 2560 นี้อัตราเติบโตจะกลับมาสู่สภาวะปกติคือเฉลี่ยปีละประมาณ 10%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ