พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 13,059 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 ก.พ.60) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มากกว่าปี 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 14,902 ล้าน ลบ.ม.)
สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 17,661 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ.60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 4 ล้านไร่) นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวมกันทั้งสิ้น 5,950 ล้าน ลบ.ม. โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ.60 มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำจ้าพระยาทั้งสิ้น 5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 2.67 ล้านไร่) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน 185 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ ทำให้คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 60 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลักใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. (แผนงานเดิมกำหนดไว้ 3,755 ล้าน ลบ.ม.)
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 27-28 ก.พ.60 ที่ผ่านมา น้ำเค็มขึ้นสูง เกิดจากคลื่นลมแรงจากตะวันออกเฉียงเหนือหรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) พัดสู่อ่าวไทย ทำให้ปริมาณน้ำเค็มและน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นผลักดันเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำสำเหล่ ของการประปานครหลวง กรมชลประทาน จึงเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 70-75 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 30 – 50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการควบคุมการขึ้นลงน้ำทะเล
ขณะนี้ (1 มี.ค. 60) ที่สถานีสูบน้ำสำเหล่ ค่าความเค็มลดลงเหลือ 0.16 กรัมต่อลิตร เข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง และค่าความเค็มสูงเกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ประมาณ 4 ชั่วโมง การประปานครหลวงจะหยุดสูบน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว และจะสูบน้ำอีกครั้งเมื่อค่าความเค็มต่ำกว่า 0.50 กรัมต่อลิตร
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า การวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ฝนหลวง 20 ปี ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 ม.ค.60 ทั้งนี้ได้ดำเนินการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วใน 4 หน่วย ตั้งแต่ พ.ย.59 เป็นต้นมา คือ วันที่ 23 - 27 พ.ย.59 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนปราณบุรี และแก่งกระจาน วันที่ 4-22 ม.ค.60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลา เติมน้ำในเขื่อนบางลางในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง วันที่ 6-10 ก.พ.60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา วันที่ 23-26 ก.พ.60 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง แต่เนื่องด้วยท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่สามารถใช้การได้ จึงใช้หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจากนครสวรรค์ บินปฏิบัติการบริเวณเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ ระยะเวลา 2 วัน ทำให้ได้ปริมาณน้ำพอสมควร
ขณะที่การติดตามตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศ (PM10) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า มีค่า PM10 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน คือ 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทำให้สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ค่า PM10 ได้คลี่คลายลงต่ำกว่า 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แล้ว นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วยการเผาไหม้ โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันหมอกไฟในภาคเหนือต่อไป