นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้ราง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่นั้น เป็นการปรับเพดานสูงสุดของพิกัดภาษี เนื่องจากของเดิมใช้มานานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นการคิดคำนวณทั้งจากราคาขายปลีกแนะนำและปริมาณแอลกอฮอล์เป็นฐานการกำหนดอัตราภาษี แต่จะไม่ได้ส่งผลให้ราคาปรับขึ้นมากผิดปกติตามที่เป็นข่าว
"ของเก่าใช้มาตั้ง 60-70 ปีแล้ว เราก็มองว่าอีกสัก 20 ปีข้างหน้า เพดานควรจะเป็นเท่าไหร่ เลยได้กำหนดตัวเลขนี้ขึ้นมา" นายสมชาย กล่าว
ส่วนอัตราการจัดเก็บจริงจะเป็นเท่าใดนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อครั้งที่ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวได้ระบุว่าจะต้องไม่สร้างภาระเรื่องภาษีให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ดังนั้น เมื่อฐานการคำนวณโตขึ้นเนื่องจากการหันมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำ ก็จะต้องปรับลดอัตราลงมาเพื่อให้เสียภาษีในระดับใกล้เคียงของเดิม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้บริโภค ซึ่งจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงโดยเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้งก่อนจะมีผลบังคับใช้
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การกำหนดเพดานภาษีไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด เป็นการเผื่อไว้ล่วงหน้า โดยฝ่ายวิชาการจะนำปัจจัยต่างๆ มาคิดคำนวณ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนที่จะผันแปรไป ส่วนการจัดเก็บภาษีอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาล
"ฐานภาษีจะคิดคำนวณรวมกันทั้งฐานด้านราคา บวกด้วยด้านปริมาณแอลกอฮอล์" นายสมชาย กล่าว
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ได้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ารัฐบาลจะจัดเก็บภาษีใหม่ๆ เพิ่มเติมหลายตัวเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ เช่น การเก็บภาษีสุรา เบียร์ ไวน์ ซึ่งพบว่ามีการรายงานตัวเลขที่คลาดเคลื่อน มีการนำข้อมูลเพดานอัตราภาษีสูงสุดไปคำนวณมูลค่าภาษี ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะอัตราภาษีที่เก็บจริงยังไม่มีการกำหนด และที่ผ่านมากรมสรรพสามิตยืนยันมาตลอดว่า หลังจากใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีจากที่ใช้ฐานราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ก็จะมีการกำหนดอัตราให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการเท่ากับของเดิม
ด้านการเก็บภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูงนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเก็บภาษีน้ำตาล แต่ในหลักการเป็นการเก็บภาษีจากปริมาณความหวาน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเก็บภาษีในอัตราเท่าไร และจะเริ่มเก็บเมื่อใด
"การศึกษาเก็บภาษีใหม่ เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ใช่รัฐบาลมีปัญหาการเก็บรายได้ เพราะการเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 4 เดือนของปีงบประมาณ 2560 ก็ยังเกินเป้าหมายกว่า 1 หมื่นล้านบาท" นายพรชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลังสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเพิ้มประชากรของประเทศให้มากขึ้น โดยโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ที่เริ่มใช้กับรายได้ในปี 2560 มีการเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 1.5 หมื่นบาท เป็นคนละ 3 หมื่นบาท โดยไม่จำกัดจำนวนคน