ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดตลาดไทยเที่ยวไทยปีนี้ขยายตัว 7-8% สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 9.3 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 1, 2017 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองสถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสร้างรายได้สะพัดสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องประมาณ 9.30-9.38 แสนล้านบาท แม้ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการต่ออายุมาตรการหักลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ประกอบกับทิศทางของต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่อาจจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและการปรับอัตราค่าจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันใหม่ที่มีผลต่อต้นทุนการทำตลาดของสายการบิน

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 9.30-9.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 7.0-8.0 เมื่อเทียบกับที่เติบโตร้อยละ 8.3 ในปี 2559 และคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 158.2-159.7 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวร้อยละ 6.2-7.2 จากที่เติบโตประมาณร้อยละ 7.3 ในปี 2559 ที่ผ่านมา" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดไทยเที่ยวไทยมาจากการตลาดที่เข้มข้นของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรง อย่างโรงแรมและสายการบิน หรือธุรกิจทางอ้อมที่มีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี และการทำตลาดประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจวางแผนของนักท่องเที่ยว

"ผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า การจัดแคมเปญการตลาดและการจัดโปรโมชั่นของภาคธุรกิจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจวางแผนเดินทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ อาทิ อิทธิพลจากการได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ การจัดงานมหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะเดียวกันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวและการเกิดขึ้นของกิจกรรมใหม่ๆ ที่มีการเจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้นในแต่ละพื้นที่ก่อให้เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ การจัดการแข่งขันกีฬาอย่างฟุตบอลไทยลีก การจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน หรือการแข่งจักรยาน การจัดงานเทศกาลท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของการท่องเที่ยวภายในประเทศ อีกทั้งในระยะหลังผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำให้ความสำคัญในการขยายเส้นทางการบินระหว่างจังหวัด นอกเหนือจากเส้นทางการบินหลักจากกรุงเทพฯ และการเปิดให้บริการเรือเฟอร์รี่ระหว่างพัทยา-หัวหิน ซึ่งจะช่วยทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ได้สะดวกขึ้น และเกิดการกระจายตัวของการเดินทางท่องเที่ยว

สำหรับตลาดท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวดีจะยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และจังหวัดท่องเที่ยวที่อยู่ในแผนการทำตลาดอย่าง 12 เมืองต้องห้ามและพลัส ซึ่งในปีนี้หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายที่จะทำตลาดการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อทาง CNN ได้มีการจัดอันดับสถานที่น่าท่องเที่ยวในโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยติด 1 ใน 17 สถานที่น่าท่องเที่ยวของโลกในปี 2560 ซึ่งน่าจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่มีความคึกคักขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจและหน่วยงานในพื้นที่น่าจะมีการทำตลาดมากขึ้น และไม่เพียงแต่กระตุ้นเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยเช่นกัน

เมื่อพิจารณาถึงการกระจายรายได้ของตลาดไทยเที่ยวไทย พบว่า ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในแต่ละจังหวัด จากฐานข้อมูลสถิติการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) มีจำนวนมาก แต่รายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่าที่ต่ำกว่าภาคอื่น เห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยรายวันของคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังทั้ง 2 ภาค ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายของคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำมาจากหลายองค์ประกอบ อาทิ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักทัศนาจร จำนวนวันพักเฉลี่ยต่อคนที่ต่ำกว่าภาคอื่นๆ สถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่หลากหลาย ระบบการคมนาคมขนส่งที่จะไปยังแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่สะดวกสบาย เป็นต้น

ทั้งนี้ การจะเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มากขึ้นสามารถทำได้หลายประการ อาทิ การสร้างผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและหาชมที่ไหนไม่ได้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในพื้นที่ให้มากขึ้น การพัฒนาสินค้าของที่ระลึกต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพและเป็นของเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในพื้นที่จะต้องซื้อสินค้านั้นๆกลับไป นอกจากนี้ ในเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงเมืองท่องเที่ยวหลักๆ อย่างเชียงใหม่ พัทยา หรือภูเก็ต ระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะในพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การจัดระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะในเมืองท่องเที่ยวที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดและระหว่างจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศให้ถูกลงและยังจะช่วยหนุนให้ตลาดไทยเที่ยวไทยสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง

"การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยช่วยกระจายรายได้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในท้องถิ่นพื้นที่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวและตามเส้นทางท่องเที่ยว โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 8.69 แสนล้านบาท" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี การผลักดันให้ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องยังมีโจทย์ที่ท้าทายหลายประการ อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน สามารถสร้างรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะในเมืองท่องเที่ยวที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดและระหว่างจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศให้ถูกลง เป็นต้น

"การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังนับเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจในชุมชนที่เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเส้นทางผ่าน และบ่อยครั้งเมื่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ตลาดไทยเที่ยวไทยจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตลาดไทยเที่ยวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้านของจำนวนคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงทั้งโรงแรมและที่พัก การขยายตัวของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศ รวมถึงบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศอย่างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในหลายมาตรการ คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากมองว่าการท่องเที่ยวในประเทศเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่เศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว และในปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ 3 ครั้ง

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถิติการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยหรือที่เรียกว่า ผู้เยี่ยมเยือน (Visitor) ซึ่งรวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวพักค้างและนักทัศนาจร โดย 1 คนสามารถเดินทางได้มากกว่า 1 ครั้ง และมากกว่า 1 จังหวัด ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า การเดินทางท่องเที่ยว มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2555-2559 นั้น จากที่มีจำนวนคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 117.6 ล้านคน-ครั้งในปี 2555 เป็นจำนวนประมาณ 149.0 ล้านคน-ครั้งในปี 2559 ขยายตัวเพิ่มเฉลี่ยอัตราร้อยละ 8.0 ต่อปี ขณะที่สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 5.89 แสนล้านบาทในปี 2555 เพิ่มเป็น 8.69 แสนล้านบาทในปี 2559 ขยายตัวเพิ่มเฉลี่ยอัตราร้อยละ 12.0 ต่อปี โดยรายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35.0 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ