พาณิชย์ ยันมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อแก้ปัญหาคำขอสิทธิบัตรคั่งค้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 2, 2017 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ามาตรการพิเศษที่รัฐบาลกำลังจะนำออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้านั้น จะช่วยแก้ไขปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณาอยู่ในระบบได้จริง และจะช่วยให้การพิจารณาออกสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันมีจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณาทุกสาขาเทคโนโลยีมีเป็นจำนวนมากกว่า 36,000 คำขอ ซึ่งหากสามารถเคลียร์ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำได้ดีขึ้น

สำหรับแนวทางในการดำเนินการเร่งรัดการจดสิทธิบัตรที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที คือ การแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบ หรือ Work sharing ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ ใช้อยู่ เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะเป็นมาตรการทางเลือกชั่วคราวที่จะใช้กับคำขอสิทธิบัตรที่ค้างการพิจารณามาเป็นเวลานาน และหากสิทธิบัตรได้รับการอนุมัติในต่างประเทศแล้ว ก็จะช่วยร่นขั้นตอนการพิจารณาลงได้

"กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะนำมาตรการนี้มาใช้ร่วมกับคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่จัดทำขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประดิษฐ์ และภาคประชาสังคม ซึ่งจะทำให้การจดสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น แต่การดำเนินการตามมาตรการนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงมีหน้าที่ตรวจสอบคำขอให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร อีกทั้งยังมีกลไกการคัดกรองคำขอก่อนเข้าสู่ระบบ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทบทวนผลตรวจสอบได้ด้วยหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น" นางอภิรดีกล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าหากไม่สามารถแก้ปัญหางานค้างสะสมได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพผู้ตรวจสอบและระบบให้บริการโดยรวม จึงจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษออกมาใช้ หากมาตรการนี้ได้รับความสนใจจากผู้ขอรับสิทธิบัตร จะทำให้ปัญหางานค้างสะสมลดลงตามเป้าหมาย และยังจะส่งผลดีทำให้นักประดิษฐ์คิดค้นของไทยมีการพัฒนางานประดิษฐ์คิดค้นมากขึ้น จากการที่สามารถยื่นคำขอจดสิทธิบัตรและได้รับการจดสิทธิบัตรเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ด้วยข้อจำกัดของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีเฉพาะด้านมีเพียง 24 คน ขณะที่ปริมาณคำขอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรไทยกับต่างประเทศพบว่า ภาระงานของผู้ตรวจสอบไทยสูงกว่าของต่างประเทศอยู่มาก ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักว่าปัญหางานค้างตรวจสอบ ส่งผลกระทบต่อการสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ จึงได้อนุมัติอัตรากำลังเพิ่มให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการฝึกฝนผู้ตรวจสอบใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญพร้อมปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อผู้ตรวจสอบใหม่เริ่มสามารถปฏิบัติงานได้ จะทำให้การพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรรวดเร็วขึ้น

ส่วนมาตรการระยะยาว กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพื่อให้การตรวจสอบสิทธิบัตรมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตามแผนคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายจากทุกภาคส่วนได้ภายในกลางปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ