ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงคาดการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 จะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ที่ขยายตัว 1.3-2.5% มีมูลค่าการส่งออก 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากภาวะศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก
ขณะที่สัญญาณการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่า 1,931 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนทำให้ขยายตัวค่อนข้างดี 9.5% (YoY) หากการส่งออกไปสหรัฐฯ ในเดือนต่อไปรักษาระดับการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง รวมทั้งผลการเร่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรากฏชัดเจนขึ้นก็มีโอกาสที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจจะปรับเพิ่มประมาณการในระยะข้างหน้า
สำหรับการแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสครั้งแรกของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังคงฉายภาพกว้างของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีเงินได้ให้แก่ชนชั้นกลาง โครงการ “National Rebuilding” หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ภายใต้แผนงานหลัก “Buy American and Hire American” เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ ซึ่งผลที่จะตามมายังต้องจับตาห้วงเวลาในการนำนโยบายต่างๆ มาใช้ต่อไป
"การแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสครั้งแรกของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงฉายภาพกว้างของนโยบายเศรษฐกิจ โดยมีท่าทีผ่อนคลายแรงกดดันของการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งมาตรการต่างๆ ยังคงไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 นี้"
นัยของการแถลงนโยบายในครั้งนี้ได้สะท้อนท่าทีผ่อนคลายแรงกดดันของการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ จากการประกาศสนับสนุนกรอบการค้าเสรี (Free Trade) แต่ต้องเป็นการค้าที่มีความเป็นธรรม (Fair Trade) ชี้ว่ามาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯ จะหยิบยกขึ้นมาจากนี้ไปน่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของธุรกิจในประเทศและมีท่าทีรอมชอมมากขึ้น ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจใช้การเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าและการกระตุ้นการส่งออกผ่านการปรับโครงสร้างต้นทุนภาคการผลิต แม้จะยังไม่ระบุรายละเอียดและเงื่อนไขทางภาษีที่ชัดเจน แต่วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ไม่เพียงต้องการสนับสนุนให้เกิดการผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่ยังมีเป้าหมายที่การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีน เม็กซิโก รวมถึงประเทศที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าและมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรื่อยมา โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับจีนและเม็กซิโกในระดับสูงถึง 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ และ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากมีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษี BAT เกิดขึ้นจริง ด้วยท่าทีที่อ่อนลงในการกีดกันทางการค้า ทางการสหรัฐฯ ก็น่าจะกำหนดขอบข่ายในการบังคับใช้ ทั้งอัตราการเก็บภาษีและรูปแบบการจัดเก็บเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการผลิตและการบริโภคในประเทศ โดยอาจมุ่งเน้นไปที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าขั้นสุดท้ายเป็นหลักเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศเอื้อผลบวกต่อธุรกิจในประเทศมากขึ้น สำหรับในกรณีของไทย ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 11 และมีมูลค่าขาดดุลการค้าราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับจีนและเม็กซิโก อีกทั้ง สินค้าไทยก็มีลักษณะต่างจากจีนและเม็กซิโก
โดยหากการเก็บภาษีจำกัดเฉพาะสินค้าขั้นสุดท้าย สินค้าไทยจึงยังมีโอกาสได้อานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้ และเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับธุรกิจที่จะกลับขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ตามนโยบายกระตุ้นการลงทุนและการผลิตในประเทศ อาทิ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น
นอกจากนี้ นโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินการคงส่งผลกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน อันมีผลสะท้อนกลับมายังโอกาสการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ใน 2 มิติ ดังนี้
ในมิติของการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคไปยังสหรัฐฯ มาตรการต่างๆ ตามแผนงานของสหรัฐฯ นั้น ล้วนมุ่งไปที่การจ้างงานและสร้างรายได้ในการบริโภคให้แก่ชาวอเมริกัน ตอกย้ำว่าหากนโยบายที่นำออกมาใช้เป็นไปตามเป้าหมาย ในท้ายที่สุดการบริโภคของสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะยิ่งมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ มากขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จาก รายงานการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดไตรมาส 4/2559 (ครั้งที่ 2) GDP ขยายตัวร้อยละ 1.9 (QoQ, SAAR) ซึ่งการเติบโตของการบริโภคเป็นแกนนำการเติบโตโดดเด่นร้อยละ 3.0 (QoQ, SAAR)
ในประเด็นนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดนั้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีความโดดเด่นที่สามารถดึงดูดการบริโภคของชาวอเมริกันได้อย่างเหนี่ยวแน่นและสหรัฐฯ ผลิตได้ไม่เพียงพอมีโอกาสทำตลาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ผลไม้กระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ทำตลาดสหรัฐฯ ได้ดีจำกัดอยู่เพียงกลุ่มอาหารเป็นหลัก ซึ่งสหรัฐฯ มีความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของโครงสร้างการนำเข้าทั้งหมด ขณะความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมด สะท้อนว่า หากธุรกิจไทยสามารถเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน รวมถึงปรับตัวให้ผลิตสินค้าสอดคล้องกับความต้องการที่มี จะยิ่งสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เติบโตได้อีกมาก อาทิ อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความสะดวกสบาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น
มิติของการเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ควรเตรียมปรับตัวในระยะต่อไปจากผลของมาตรการลดภาษีเงินได้และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ: จะเห็นได้ว่านโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากนี้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการผลิตและการจ้างงานในประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดต้นทุนการทำธุรกิจด้วยมาตรการลดภาษีเงินได้ รวมถึงมาตรการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินขนาดใหญ่ ซึ่งในเบื้องต้น เป็นการโน้มนำให้นักลงทุนที่มีแผนขยายฐานการผลิตเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ แทนการออกไปลงทุนยังต่างประเทศอาจเผชิญอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ากลับมาจำหน่ายในสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า โดยธุรกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและมีฐานการผลิตในต่างประเทศน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่หันกลับมาขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ตอบรับนโยบายดังกล่าว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นต่างๆ ทำให้ความต้องการสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในสหรัฐฯ เร่งตัวมากขึ้น ขณะที่สาขาการผลิตของบริษัทข้ามชาติ (MNC) ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศก็ยังคงมีอยู่แต่อาจมีบทบาทลดลงบางส่วน
ดังนั้น ในระยะต่อไป ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยที่ส่งออกไปป้อนการผลิตในประเทศที่เป็นฐานการผลิตของ MNC ในประเทศต่างๆ และมีปลายทางการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจได้รับผลจากการปรับผังโครงสร้างการผลิตตามนโยบายของบริษัทแม่ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโยกย้ายสายการผลิตที่มีศักยภาพพอจะขยายตลาดและสร้างกำไรจากการเพิ่มการลงทุนที่สหรัฐฯ และลดกำลังการผลิตในต่างประเทศ อาทิ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น ที่เป็นเป้าหมายหลักในการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งในประเด็นนี้ ผลที่ย้อนกลับมายังการส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ 1) สินค้าวัตถุดิบของไทยที่ตรงกับสายการผลิตที่ขยายฐานการลงทุนในสหรัฐฯ จะถูกโยกการส่งออกจากไทยตามไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และ 2) การผลิตที่เน้นต้นทุนต่ำที่ยังต้องพึ่งฐานการผลิตในต่างประเทศ ที่ก็น่าจะยังคงดำเนินการผลิตในต่างประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นต้นของไทยก็ยังส่งออกไปตลาดเดิม
"การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากผลของนโยบายปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว ภายใต้มุมมองที่ว่านโยบายการขึ้น BAT ยังไม่มีผลต่อไทยอย่างมีนัยสำคัญนัก และกว่านโยบายจะนำมาใช้ได้จริงน่าเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 รวมทั้งผลของนโยบายที่ส่งผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจก็อาจจะเริ่มเห็นในปี 2561"