น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ฉบับใหม่มีมติผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการค้าของร้านโชห่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขอขี้แจงว่า พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายและรายได้หลักของร้านโชห่วย เนื่องจากรายได้ของร้านโชห่วยมาจากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพเป็นหลัก ซึ่งการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในท้องถิ่นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของร้านกับลูกค้า พฤติกรรมจะเป็นการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเป็นหลัก และซื้อแต่ละครั้งจำนวนน้อยแต่ซื้อบ่อยครั้ง
อีกทั้งผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือท้องถิ่น ต่างมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยหันมาสนใจเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะลดการซื้อสินค้าที่อาจมีผลต่อสุขภาพ อาทิ สุรา และยาสูบ ดังนั้น ข้อกังวลที่มีการคาดการว่า พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อร้านโชห่วยจึงไม่น่าเกิดขึ้น และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อร้านค้าขนาดใหญ่ด้วย
โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกไทยให้มีการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อแนวโน้มการค้าการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และการทำธุรกิจของร้านค้าส่ง-ค้าปลีกในส่วนภูมิภาคให้มีความทันสมัย สามารถแข่งขันและสร้างโอกาสที่เหนือกว่าในสถานการณ์การค้าที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดระหว่างร้านค้าปลีกรายใหญ่กับร้านโชห่วยรายย่อย โดยได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าให้ถึงมือประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงพื้นที่จัดอบรม "เทคนิคการบริหารจัดการค้าส่งค้าปลีกอย่างมืออาชีพ" โดยเป็นกิจกรรมที่ร่วมดำเนินการกับร้านค้าส่งต้นแบบในความดูแลของกรมฯ ในลักษณะพี่ช่วยน้อง เชิญชวนร้านค้าปลีกเครือข่ายในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
โดยในปี 2560 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาร้านค้าปลีกกว่า 5,000 ร้าน ซึ่งจะส่งผลให้ร้านโชวห่วยสามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้แข่งขันได้ มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น และกลายเป็นกลไกตลาดระดับท้องถิ่นที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและชุมชนให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัว และมีเสถียรภาพ
น.ส.บรรจงจิต์ กล่าวว่า ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ 5 ราย จัดทำสินค้า "ธงฟ้าประชารัฐ" ขึ้น เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในราคาถูกแบบถาวร ซึ่งมีราคาต่ำกว่าท้องตลาดประมาณ 15-20% คาดว่าร้านโชวห่วยที่เข้าร่วมโครงการจำหน่ายสินค้า "ธงฟ้าประชารัฐ" จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การดำเนินงานของรัฐบาลในปัจจุบันได้คำนึงถึงองค์ประกอบของทุกมิติอย่างรอบคอบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกถือเป็นอีกมิติหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบภายใต้การส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 114 ร้านค้าทั่วประเทศ และในจำนวนนี้มีร้านค้าปลีกโชห่วยเครือข่ายมากกว่า 20,000 ร้าน หากร้านในจำนวนนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งก็จะกลายเป็นกลไกและช่องทางสำคัญที่จะใช้ขยายตลาดทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสินค้าเกษตรในท้องถิ่นได้ รวมไปถึงจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ด้าน น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่มีผู้กล่าวอ้างผ่านสื่อต่างๆ ว่า การซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายเป็นมวน ทำให้เลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้นนั้น กรณีนี้ไม่เคยมีหลักฐานทางวิชาการปรากฏตามข้อกล่าวอ้างนี้ แต่กลับตรงกันข้าม ในงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่าการที่คนสูบบุหรี่สามารถซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายเป็นมวน กลับจะทำให้เลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น เพราะเขาจะได้บุหรี่มาสูบทุกครั้งที่อยากสูบ แม้เขาจะมีเงินไม่มากพอที่จะซื้อบุหรี่เป็นซองก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน ไม่ได้เป็นมาตรการที่กระทบภาพรวมรายได้ของร้านค้าปลีกแต่อย่างใด เนื่องจากโดยสภาพของร้านค้าปลีกโดยทั่วไป จะนำสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดมาวางขาย และสินค้าบุหรี่เป็นเพียงสินค้ารายการหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่สินค้าจำเป็นที่ทุกร้านต้องมีไว้ขาย นอกจากนี้รายได้จากการขายบุหรี่ยังเป็นเพียงแค่หนึ่งในสิบของรายได้โดยรวมของร้านค้าปลีกเท่านั้น