สรรพสามิต ห่วงอ้างกักตุนสินค้า เร่งแจง กม.ใหม่ยันไม่เพิ่มภาระภาษีอย่างมีนัยสำคัญแม้ปรับเพิ่มเพดาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯ จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการเตรียมประกาศใช้กฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ที่อาจทำให้เกิดการกักตุนสินค้าโดยไม่มีเหตุอันควร เพราะยืนยันได้ว่าภาระภาษี ณ วันที่กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้จะไม่ได้ทำให้ภาระภาษีของสินค้าแต่ละชนิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีการปรับเพิ่มเพดานภาษี และวิธีการคำนวณอัตราภาษีก็ตาม

"เมื่อครั้งที่ ครม.พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ให้หลักการไว้แล้วว่าจะต้องไม่สร้างภาระค่าภาษีให้กับประชาชนเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วค่าภาษีที่เสียอยู่จะต้องไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่เผยแพร่กันในโซเชียลก็ยังมีความคลาดเคลื่อน"นายสมชาย กล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ เกิดจากการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกรมทั้ง 7 ฉบับมาไว้เป็นฉบับเดียว ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของกรมฯ และเพื่อให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีความเป็นสากลมากขึ้น

กฎหมายฉบับใหม่ยังกำหนดสินค้าและบริการที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตไว้ตามเดิม คือ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, รถยนต์, เรือยอร์ชและยานพาหนะทางน้ำที่ใช้เพื่อความสำราญ (ยกเว้นภาษี), พรมและสิ่งทอปูพื้นที่ทำด้วยขนสัตว์, ไนท์คลับและดิสโก้เธค, รายรับจากการออกสลากกินแบ่ง (ยกเว้นภาษี) , กิจการโทรคมนาคม (ลดภาษีเหลือ 0%), สนามแข่งม้า, ยาสูบหรือยาเส้น, สารทำลายขั้นบรรยากาศโอโซนประเภทอนุพันธุ์ชนิดฮาโลเจนเต็ดของไฮโดรคาร์บอน, เครื่องดื่ม, แก้วลดคริสตอลและเก้วครัสตัลอื่นๆ, รถจักรยานยนต์, น้ำหอมและหัวน้ำหอม, แบตเตอรี่, สถานอาบน้ำและอบตัวและนวด, สนามกอล์ฟ, หินอ่อนหรือหินแกรนิตที่แปรรูปแล้ว (ยกเว้นภาษี), สุรา และ ไพ่

สาระสำคัญของร่างกฎหมายเกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ยอมรับว่าต้องมีการปรับเพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการทุกประเภท ซึ่งจะถูกกำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และค่าเงินบาทในช่วง 20 ปีข้างหน้าด้วย โดยเป็นการปรับปรุงหลังจากที่ใช้เพดานเดิมมานานหลายสิบปี ทำให้เกิดปัญหาในการจัดเก็บภาษีสินค้าบางพิกัด อย่างเช่นภาษีบุหรี่ที่จัดเก็บภาษีเต็มเพดานแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการกำหนดเพดานไว้เท่านั้น ส่วนจะจัดเก็บจริงในอัตราเท่าใดขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดให้เกิดความเหมาะสมผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะอนุมัติประกาศกระทรวงการคลังต่อไป

นอกจากนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยแก้ไขความลักลั่นในการจัดเก็บภาษีในสินค้าบางพิกัด จึงมีการปรับวิธีคำนวณอัตราการจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม เช่น สำหรับสินค้าเหล้าและเบียร์ ซึ่งปัจจุบันแยกเป็นสุราแช่และสุรากลั่น เปลี่ยนจากการคำนวณจากฐานราคาหน้าโรงงาน หรือราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และราคาสำแดงนำเข้า (CIF) มาเป็นตำนวณจากฐานราคาขายปลีก หรือราคาแนะนำสุดท้าย ควบคู่กับการคำนวณจากปริมาณแอลกอฮอล์ด้วย แต่จะมีการปรับสัดส่วนให้เกิดความเป็นธรรม

"การแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง ต้องใช้ระยะเวลานาน มีความยุ่งยาก ทำให้กรมฯ ต้องมีการพิจารณาปรับอัตราเพดานการจัดเก็บภาษีเพื่อรองรับอนาคตในช่วง 20 ปีข้างหน้าด้วย ส่วนอัตราการจัดเก็บแท้จริง คงต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้งว่าควรจะอยู่ที่เท่าไร และในอนาคตจะมีการปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บภาษีหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายพิจารณา"นายสมชาย กล่าว

ปัจจุบัน กรมฯ อยู่ระหว่างการหารือกับภาคเอกชนเป็นรายสินค้า รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย เพื่อเตรียมกำหนดแผนการทำงานร่วมกันภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ได้รับการโปรดเกล้าให้บังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งจัดพิมพ์รายละเอียดของกฎหมายฉบับใหม่ที่เข้าใจง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแจกให้กับผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเตรียมเดินสายชี้แจงกับผู้ประกอบการทั่วประเทศด้วย

พร้อมกันนั้น กรมฯ จะยกร่างอนุบัญญัติกว่า 80 ฉบับ รวมถึงกฎกระทรวงต่าง ๆ เพื่อรองรับกฎหมายสรรพสามิตฉบับใหม่ที่จะมีเวลาอีก 180 ในการบังคับใช้ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน การจัดเก็บภาษี การออกใบอนุญาต การดำเนินคดี รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในไม่ช้า

นายสมชาย ยังกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีของกรมฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-ก.พ.60) มีรายได้รวมอยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายราว 2 พันล้านบาท เนื่องจากภาพรวมการบริโภคเกิดความซบเซาในช่วงเดือน ต.ค.59 ในช่วงสถานการณ์สำคัญของประเทศ อีกทั้งสถานบริการต่างๆ หยุดทำการ แต่เชื่อว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจะสนับสนุนให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในปีงบประมาณนี้เข้าเป้าหมายที่ 5.55 แสนล้านบาท อีกทั้งกรมฯ ได้จัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ซึ่งตั้งเป้าหมายเพิ่มการจัดเก็บรายได้ขึ้น 5-10% ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ