BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.80-35.15 แนวโน้มอ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดสัปดาห์นี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่า โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 34.80-35.15 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดที่ 35.06 บาท/ดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ซึ่งกระตุ้นกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยราว 5.3 พันล้านบาท และ 1.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ โดยดอลลาร์ได้แรงหนุนจากสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดปรับมุมมองที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมจากเดิมความน่าจะเป็นที่ระดับ 40% เพิ่มเป็นราว 90% ภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ โดยดอลลาร์แตะระดับแข็งค่าในรอบ 2 สัปดาห์เทียบกับทั้งเยนและยูโร ก่อนมีแรงเทขายทำกำไรเมื่อช่วงท้ายสัปดาห์

โดยความเห็นของประธานเฟดที่กล่าวทิ้งท้ายสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยันแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. ตราบใดที่ตัวเลขด้านตลาดแรงงานและเงินเฟ้อยังสดใส โดยเฟดระบุว่าแผนการปรับดอกเบี้ยไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักต่อนโยบายที่รัฐบาลทรัมป์อาจจะนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้

"สุนทรพจน์รอบล่าสุดของประธานเฟดสะท้อนความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งเมื่อเทียบกับปี 2558 และ 2559 ที่ขยับดอกเบี้ยเพียงปีละ 0.25% เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำในอดีตที่เฟดเคยเริ่มต้นขึ้นดอกเบี้ยอย่างเชื่องช้าและต้องเร่งคุมเข้มนโยบายในช่วงปลายวัฏจักร ซึ่งทำให้เกิดปัญหาควบคุมเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ทันท่วงที" น.ส.รุ่ง กล่าว

สำหรับปัจจัยชี้นำสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และข้อมูลการจ้างงานเดือนกุมภาพันธ์ ของสหรัฐฯ โดยนักลงทุนจะจับตาการเติบโตของค่าจ้างเป็นสำคัญ โดยประเมินว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยกลางสัปดาห์หน้าหากตัวเลขออกมาไม่แย่กว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ได้ปรับมุมมองจากเดิมที่เคยคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2560 เป็น 3 ครั้งในเดือน มีนาคม มิถุนายน และธันวาคม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกของดอลลาร์ เงินบาทยังค่อนข้างนิ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค สอดคล้องกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ระดับสูง แต่จะยังเป็นประเด็นให้ทางการเข้าดูแลเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ