นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการ สายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนาคารเปิดสาขา Thanachart Next ที่ชั้น G ศูนย์การค้าสยามพารากอน เป็นสาขารูปแบบใหม่อีกหนึ่งรูปแบบ ต่างจากแบบ Express เนื่องจากจะเป็นสาขาที่ให้บริการครบวงจร คือ ทั้งเคาน์เตอร์ และมีตู้ให้บริการอัตโนมัติ ที่สำคัญมีพื้นที่เฉพาะสำหรับลูกค้าที่สนใจด้านการเงิน การลงทุน เงินฝากและกองทุนต่างๆ โดยมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ศึกษาข้อมูลอย่างเต็มที่ และมีผู้เชี่ยวชาญไว้ให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพในบรรยากาศทันสมัย สะดวกสบายและเป็นกันเอง
“ในปีที่ผ่านมาจำนวนธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารลดลงเล็กน้อย และคาดว่าปี 2560 จะลดลงไปตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลแบงกิ้งที่เพิ่มมากขึ้น ธนชาตจึงวางกลยุทธ์ที่จะปรับโฉมรูปแบบสาขาเพื่อปรับตัวให้ทันตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ส่วนการจะเปลี่ยนสาขาไปเป็นรูปแบบใดนั้น ธนาคารจะพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าในพื้นที่เป็นหลัก ประกอบกับลักษณะโครงสร้างของสาขาว่าพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เป้าหมายก็เพื่อสร้างเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งขึ้นและครอบคลุมการให้บริการในทุกพื้นที่ ให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้รับการบริการและการดูแลอย่างทั่วถึง" นายสนองกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนชาตได้ปรับรูปแบบโครงสร้างการให้บริการของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพนักงานประจำสาขาที่มีการปรับโฉม จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอย่างมืออาชีพในเชิงลึก เสริมทักษะความรู้ให้มีศักยภาพในการบริการลูกค้าผ่านระบบดิจิทัลแบงกิ้งทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Thanachart Connect โมบายแอพพลิเคชั่น ตู้ให้บริการอัตโนมัติ หรือบริการพิเศษอื่นๆ
นอกจากนี้ ธนชาตมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ดิจิทัล เช่น ธนชาต Smart Solution เก็บก็ได้ ใช้ก็ดี ซึ่งประกอบด้วยบัญชีออมทรัพย์หลัก 2 บัญชี คือ ออมทรัพย์ e-SAVINGS ใช้เป็นบัญชีเก็บที่มาพร้อมความคล่องตัว ถอนได้ ดอกไม่ลด และรับดอกเบี้ยสูง 1.8% ต่อปีเมื่อผูกกับธนชาตพร้อมเพย์ ทำธุรกรรมง่าย สะดวก ปลอดภัย ผ่าน Thanachart Connect โมบายแอพพลิเคชั่น ใช้คู่กับ ออมทรัพย์บัญชี ฟรีเว่อร์ เพื่อเป็นบัญชีใช้ มีอิสระกับการจับจ่ายอย่างสบายใจเพราะฟรีทุกค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะถอน โอน จ่าย และค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งพนักงานจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้เพื่อจะได้ให้บริการลูกค้าได้ตรงความต้องการที่สุด
"จากความเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คนอาจมองว่าจะกระทบต่อรายได้ของธนาคาร ในความเป็นจริงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารแต่อย่างใด หากพบว่าธนาคารยังมีกำไรติดต่อกันหลายไตรมาส และเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาธนาคารยังมีกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ในระยะยาว ธนาคารจะสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้นเนื่องจากธุรกรรมออนไลน์เป็นบริการที่สะดวก รวดเร็ว อยู่ที่ไหนก็ทำได้ จึงตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าธนาคารได้กว้างขวางมากขึ้น" นายสนอง กล่าว