รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.37 [เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน] ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี - สำนักงานเขตคลองสาน - ประชาธิปก) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
ทั้งนี้ ให้กทม.เร่งรัดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อีกทั้งให้ กทม.บูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งขนาดใหญ่และขนาดรองให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยคำนึงถึงเส้นทางและระยะทางที่จะพัฒนาให้เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนเกิดความประหยัดต่อขนาด (Economics of Scale) รวมทั้งการพิจารณาใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมกันได้
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ได้ออกแบบให้เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง - มหาชัย) บริเวณสถานีคลองสาน ระยะทาง 2.72 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี เปิดบริการ พ.ศ.2561 ปริมาณผู้โดยสาร 47,300 คนต่อวัน ระบบรถไฟฟ้า Automatic Guideway Transit (AGT) (ล้อยาง) การออกแบบโครงสร้างให้ใช้ผิวการจราจรน้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนเจริญนครและถนนกรุงธนบุรี มีการออกแบบรูปลักษณ์สถานีให้สอดคล้องกับกายภาพของถนนเจริญนคร โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการก่อสร้างระหว่างระบบขนส่งใต้ดินกับรูปแบบการยกระดับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.37