นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ประกอบด้วย
1. แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามคำว่า การบริหารสินทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน และผู้มีอำนาจในการจัดการ เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
2. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทบริหารสินทรัพย์
3. กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินสามารถดำเนินงานที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
4. กำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดหรืออายัดของหน่วยงานของรัฐและการโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร และกำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวน ของผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่อาจสวมสิทธิเป็นคู่ความในคดีที่อยู่ในชั้นศาล และไม่อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมได้ รวมทั้งจะต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5. เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
6. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จดทะเบียนก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งมีกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
นายณัฐพร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้มีการเพิ่มเติมขยายขอบเขตใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ หน่วยงานที่สามารถไปรับสินทรัพย์มาบริหารได้ จากเดิมที่จะทำได้เฉพาะสถาบันการเงิน ซึ่งของใหม่จะขยายเพิ่มเป็นหน่วยงานของรัฐ และนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ Non Bank เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล Personal Loan เช่น อิออน และผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ (Pico Finance) รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและลิสซิ่ง
นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตหน้าที่ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถทำงานเป็นที่ปรึกษาในงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์ได้ เช่น การเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น
อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเพิ่มเติมมาตราเกี่ยวกับการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ หลักๆคือ ห้ามเป็นผู้ต้องโทษด้านการเงินมาก่อน หรือไม่เคยเป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ปิดกิจการมาก่อน
"การเพิ่มเติมขอบเขตอำนาจหน้าที่ จะช่วยได้มากในด้านประโยชน์ทั้งของเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ซึ่งเป็นภาครัฐอาจจะมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอยู่ในมือมากกว่าแต่ไม่มีความชำนาญในการบริหาร ก็สามารถถ่ายโอนมาให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ และขณะเดียวกันในส่วนของ Non Bank เมื่อ Pico finance หรือ Nano Finance มีช่องทางในการถ่ายโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ก็จะทำสามารถ Focus การปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้ภาคครัวเรือน เพราะจะมีช่องทางในการปรับปรุงหนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ได้เพิ่มขึ้น เช่น เมื่อก่อนลูกหนี้บัตรเครดิตหลายๆ ใบไม่สามารถรวมเป็นก้อนเดียวได้ จากนี้สามารถรวมเป็นหนี้ก้อนเดียวแล้วไกลี่เกลี่ยหนี้รอบเดียว ซึ่งตัวนี้จะมาช่วยเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ" นายณัฐพร ระบ