วันนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอคัดค้านและขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ.60 ที่จะให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยว่ากรณีการแบ่งแยกทรัพย์สินจาก บมจ.ปตท. (PTT) คืนให้แก่รัฐครบถ้วนแล้วหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่ามีข้อยุติเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวแล้วว่ายังไม่มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ครม.ต้องสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานไปดำเนินการให้ ปตท.ส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่รัฐให้ครบถ้วน ไม่ใช่ส่งเรื่องย้อนกลับไปที่ศาลปกครองสูงสุดอีก
"คปพ.จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 และได้มีมติสั่งการให้ ปตท.ส่งมอบคืนทรัพย์สินแก่รัฐให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอให้ท่านได้โปรดแสดงความจริงใจแจ้งความคืบหน้าให้ คปพ.ทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากคณะรัฐมนตรีเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ถ่วงเวลา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการยืนยันที่จะปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อไป คปพ. และประชาชนอีกจำนวนมาก อาจมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการกระทำดังกล่าวที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป"คปพ.ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อนายกรัฐมตรี
เอกสารระบุอีกว่า การที่ครม.มีมติส่งเรื่องกลับไปให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาตัดสินอีกครั้งนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่าเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เป็นเรื่องหน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดย ครม.เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย เนื่องจากในกรณีนี้ได้มีการระบุจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้วว่า มีการกระทำที่มิได้ปฏิบัติตามมติ ครม.และมีการรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว การที่ ครม.ฝ่าฝืนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว และไม่ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ย่อมเท่ากับ ครม.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สินได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วตามมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 จึงไม่มีเหตุที่ต้องส่งกลับให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาตัดสินคำพิพากษาและคำสั่งศาลปกครองอีก โดยตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง โดยหากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค.59 ว่า มีการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่รัฐยังไม่ครบถ้วน ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการคืนทรัพย์สินจนมีข้อยุติแล้ว ปรากฏเป็นหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 20 ก.ย.59 ถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) อ่านได้ความว่าการแบ่งแยกยังไม่สมบูรณ์เนื่องจาก “ศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วน ๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนที่ดินของใคร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อนๆ ได้"เมื่อข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินมีข้อยุติโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ครม.จึงต้องสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่รัฐให้ครบถ้วนเพื่อให้เป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.50 โดยสมบูรณ์ มิใช่มีมติ ครม.ใหม่ด้วยการส่งเรื่องย้อนกลับไปให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาตัดสินในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม.โดยตรง ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยเป็นการถ่วงเวลาและเอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่นใดได้ มาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยังคืนแก่รัฐไม่ครบถ้วนต่อไปได้อีก
คปพ.มีข้อสังเกตว่าการที่กระทรวงการคลังที่เสนอต่อครม.ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 16 ธ.ค.59 ว่า อาจมีเนื้อหาที่บิดเบือนไม่ตรงตามมติที่ประชุมของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน และอาจทำให้ครม.พิจารณาข้อเสนอด้วยความหลงผิดจนนำมาสู่การมีมติครม.ที่มิชอบในครั้งนี้