นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศแสดงความสนใจที่จะลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ ม.ค.59-ม.ค.60 บีโอไอได้อนุมติส่งเสริมการลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนารวม 17 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,506 ล้านบาท
โดยโครงการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วและสามารถเริ่มลงทุนได้ในเร็วๆ นี้ ครอบคลุมในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำในหลายโครงการ อาทิ กิจการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กราฟิน (Graphene) ของบริษัทเฮเดล เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรายใหญ่ของโลกจากประเทศอังกฤษโดยได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว
ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์กราฟินจัดอยู่ในกลุ่มนาโนเทคโนโลยี มีคุณสมบัติพิเศษที่เมื่อมีการจัดเรียงโครงสร้างแล้วจะเป็นวัสดุที่แข็งกว่าเหล็กประมาณ 5 เท่า มีคุณสมบัตินำความร้อน และนำไฟฟ้าได้อย่างดี การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กราฟินจึงช่วยรองรับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ได้หลากหลาย อาทิ อุปกรณ์สำหรับจอภาพที่บางและโค้งงอ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและอากาศยาน หลอดแอลอีดี (LED) รวมทั้งช่วยยืดอายุและเพิ่มประสิทธิภาพให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ขณะที่การลงทุนกิจการวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติของยางและผลิตภัณฑ์จากยางเพื่อรองรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ของบริษัทในเครือบริษัท โคโคคุ อินเทค จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วน และส่วนประกอบจากยางสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า มีบริษัทในเครือกว่า 12 แห่งทั่วโลก
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ตามโครงการจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทย อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติของยางและผลิตภัณฑ์จากยาง สำหรับอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ สายน้ำเกลือ ถุงน้ำเกลือ สายยางถ่ายเลือด เป็นต้น เพื่อป้อนให้แก่บริษัทในเครือทั่วโลก โดยกิจการนี้ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐาน การคัดเลือกชนิดของยาง ไปจนถึงการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีแผนจัดฝึกอบรมแก่บุคลากรไทยเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ
ด้านการลงทุนกิจการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนและระบบต่างๆของรถยนต์ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโต โมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ มีการออกแบบทางวิศวกรรมและเทคนิคเพื่อคิดค้น ออกแบบชิ้นส่วนและส่วนประกอบ รวมถึงระบบต่างๆ ในรถยนต์ เพื่อพัฒนาเป็นชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบโดยใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน
"โครงการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนนอกจากจะมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพ มาพัฒนาให้การลงทุนมีคุณค่าสูงขึ้นแล้ว ทุกกิจการยังมีแผนพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย" นางหิรัญญา กล่าว
เลขาธิการบีโอไอ มั่นใจว่า แนวโน้มการลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนาในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และพระราชบัญญัติเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยดึงดูดโครงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้มากกว่า 8 ปี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดสอบที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
โดยในปี 2560 บีโอไอยังมีแผนจะจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนบริษัทเป้าหมายในกลุ่ม เทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงการวิจัยพัฒนา อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น