นายกฯ ประกาศวิสัยทัศน์มุ่งสู่รัฐบาลยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมในอีก 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 8, 2017 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนา “วิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย : Thailand Digital Government Vision 2017 – 2021" ว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับการทำงานของภาครัฐ จึงขอประกาศวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการมุ่งสู่รัฐบาลยุคดิจิทัลในอีก 5 ปี ที่ภาครัฐจะยกระดับการทำงานสู่รัฐบาลยุคดิจิทัลที่มีความบูรณาการ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง โดยยึดหลักประหยัดและคุ้มค่าให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคาดหวังว่าทุกหน่วยงานจะขับเคลื่อนการทำงานด้วยความุ่งมั่นเอาจริงเอาจังและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมาก โดยเห็นได้จากพฤติกรรมประชาชนตั้งแต่ตื่นนอนที่ต้องจับโทรศัพท์เป็นสิ่งแรก รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญ และมอบนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หาแนวทางใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนงานรัฐบาลและพยายามหาวิธีการให้บริการประชาชนในเรื่องเทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างรอบด้านที่สุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองอยู่ยุคเบบี้บูมเมอร์ที่สามารถดูและใช้เทคโนโลยีได้ ซึ่งเหมือนกับใครอีกหลายคน แต่ขณะนี้อยู่ในยุค Gen Z ที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนา สร้างการเรียนรู้ มีหลักคิดที่ดีและถูกต้อง ต่อยอดความคิดที่สร้างสรรค์ของเยาวชน

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงการพัฒนาบุคคลากรภาครัฐ ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการหาบุคคลากรที่มีความสามารถให้เข้ารับราชการ และมีค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อนำมาทดแทนกำลังพลที่ขาด รวมถึงการใช้อิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษ การบริการแบบวันสต๊อปเซอร์วิสที่มีประสิทธิภาพ ดูแลการให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม โดยเฉพาะการให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล

"วันนี้ขอทุกคนร่วมแรงร่วมใจกับผมไปก่อน ต่อไปมีอีกหลายช่วงอายุที่ต้องใช้เทคโนโลยี เราจึงต้องวางรากฐานการพัฒนาไว้ให้กับคนรุ่นต่อไป ผมเป็นแค่เบบี้บูมเมอร์ ผมจะทำได้ดีเท่าที่เราทำได้อย่างไร วันนี้ต้องรู้ว่าประชาชนจะได้อะไรจากดิจิตอล แล้วเราจะให้อะไรกับประชาชน ภายใต้การทำงานในช่วงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ภายใน 5 ปีนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ได้กำชับให้ข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ ทุกระดับให้ร่วมกับขับเคลื่อนการทำงานให้สำเร็จ โดยขอทุกฝ่ายช่วยกันทำงานเล็กให้กลายเป็นงานชิ้นใหญ่ที่เป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะทุกคนเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น และร่วมกันลดความขัดแย้ง อะไรทำได้ทำก่อน อะไรขัดแย้งติดขัดวางไว้ก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาแก้ทีละเรื่องไม่งั้นหากไม่ทำก็ติดปัญหาไปหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไม่สามารถใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งยอมรับว่าปวดหัวกับข้อเรียกร้องใช้อำนาจมาตรา 44 ทั้งที่ความเป็นจริงต้องมาร่วมมือแก้ปัญหาดีที่สุด เพราะวันนี้คนไทยมักโทษกฎหมาย และเริ่มเชียร์มวยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่กลายเป็นการกดดันเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าไม่รอบคอบประชาชนอาจได้รับผลกระทบ ดังนั้นต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่วางแผนทำงานและตัดสินอย่างรอบด้าน ซึ่งรัฐบาลพร้อมรับผิดชอบ เพราะการบังคับการใช้กฎหมายย่อมมีผลกระทบทุกเรื่อง พร้อมทั้งขอให้ข้าราชการช่วยลดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ด้านหนึ่ง และมีจิตใจร่วมกันที่จะสร้างดิจิทัลให้เกิดขึ้น รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยต้องพัฒนาคนตั้งแต่ 1.0 จนถึง 4.0 ด้วยการนำวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ มาวางแผน

ด้านนายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้คำแนะนำในการเดินหน้าตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 โดยทำให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจรับรู้และเข้าใจการทำงานในด้านดิจิทัลของรัฐบาล และแนะนำให้มีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดความเหมาะสม และเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีนี้ พร้อมทั้งให้วางรากฐานให้ระบบราชการมีขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

"เรื่องดิจิทัลสำหรับบางคนเป็นเรื่องยาก แต่เราหลีกหนีไม่ไหว การวิ่งให้ทันโลกทันต่อเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญกับประเทศ" นายพิเชษฐ กล่าว

นายพิเชษฐ กล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลได้วางรากฐานทั้งเรื่องอี-เพย์เม้นท์ และอี-คอมเมิร์ช รวมถึงการพัฒนาระดับประชาสังคม จึงนำไปสู่โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน โดยตั้งเป้าติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านในปีนี้ให้ได้ 24,700 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้การค้าขายของประชาชนในชุมชนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนจะสามารถติดตั้งระบบอินเตอร์เนตหมู่บ้านได้ครบ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านภายใน 5 ปีได้หรือไม่นั้น เชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละชุมชนด้วย

ทั้งนี้ การพัฒนาด้าน e-Government มีส่วนช่วยการจัดอันดับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น ซึ่งเมื่อปีล่าสุด ไทยอยู่อันดับที่ 77 ดีขึ้น 25 อันดับ จากการประเมินเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ในอันดับที่ 102 ถือว่าเป็นดีขึ้นแบบก้าวกระโดด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ