พลังงาน เสนอคลังเพิ่มมาตรการไฟฟ้าฟรี-LPG ราคาถูกเข้าเป็นสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 8, 2017 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนที่ใช้มิตเตอร์ขนาด 5 แอมแปร์ และมาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับครัวเรือนและหาบเร่แผงลอยที่มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อ LPG ได้ในราคาถูก เพื่อนำไปประมวลรวมกับนโยบายช่วยคนจนของกระทรวงการคลังที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดระบบใหม่

เนื่องจากขณะนี้โครงการไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านกฎหมาย เนื่องจากศาลปกครองกลางสั่งให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นผู้จ่ายชดเชยค่าไฟฟ้าให้แก่ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น

ดังนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมอุทธรณ์คำสั่งศาลฯ ตามกระบวนการทางกฎหมาย และกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อหรือไม่ และจะหาแหล่งเงินใดมาชดเชย เป็นต้น จนนำไปสู่การยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังดังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าการจัดรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งนั้น เบื้องต้นได้เตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนภายใน 1 เดือนนี้ โดยจะเริ่มที่ภาคใต้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่สามารถผลิตได้ และยังมีปัญหาความเห็นขัดแย้งในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยจะเป็นการพูดคุยในหัวข้อพลังงานรูปแบบใดที่เหมาะสมในพื้นที่ รวมถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด และข้อจำกัดในการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แม้ราคาก่อสร้างจะถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เมื่อต้องนับรวมการสร้างคลัง LNG ลอยน้ำ (FSRU) และการวางท่อก๊าซฯ จะทำให้การลงทุนมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นต้องมาพิจารณาว่าในระยะยาวเชื้อเพลิงใดที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมถูกกว่ากัน โดยยืนยันว่าถ่านหินมีต้นทุนที่ถูกกว่าก๊าซฯมาก

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุด้วยว่า ประเทศในเอเชียมีแนวโน้มจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าต่อไป ส่วนประเทศที่ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เพราะประเทศนั้นๆ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินมากเกินไปนั่นเอง แต่การที่เอเชียจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ควรใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ซึ่งระบบ ultra-super critical (USC) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะนำมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ถือว่าเป็นระบบที่ทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารโลกยังยอมปล่อยกู้ให้กับโรงไฟฟ้าระบบดังกล่าว จึงเชื่อมั่นได้ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในตอนนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ