ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือน ก.พ. 60 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.3 จากเดิมที่ระดับ 44.0 ในเดือน ม.ค.60 สะท้อนความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบัน โดยในเดือนที่ผ่านมา ครัวเรือนลดความกังวลในเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่าย และภาระหนี้สิน แต่กลับมีความกังวลมากขึ้นเรื่องภาวะการมีงานทำ สอดคล้องไปกับอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค.-ก.พ.60 ที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 59
"ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือน ก.พ.60 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน และแตะระดับสูงสุดในรอบ 22 เดือน สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบัน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยในเดือน ก.พ.นี้ ครัวเรือนมีความกังวลลดลงในเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า เนื่องจากราคาอาหารสดหลายรายการมีราคาถูกลง รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินที่ครัวเรือน เพราะส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากการเร่งใช้จ่ายตามมาตรการช้อปช่วยชาติของรัฐบาลไปในการซื้อสินค้าบริโภคและอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อกักตุนไว้ใช้ในอนาคต สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะการครองชีพของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในช่วงเดือน ธ.ค.59 ที่ว่า ครัวเรือนเลือกซื้อสินค้าในหมวดของใช้ในบ้านมากที่สุดราว 21% ของสินค้าและบริการที่ใช้จ่าย เพื่อนำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ครัวเรือนกลับมีความกังวลมากขึ้นในเรื่องการมีงานทำหลังสถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
"ครัวเรือนมีความกังวลลดลงในเรื่องราคาสินค้าสะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 38.7 ในเดือน ม.ค.60 มาสู่ระดับ 41.0 ในเดือน ก.พ.60 เนื่องมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ส่วนใหญ่มีราคาถูกลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.15 จากเดือน ม.ค.60" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนหวนกลับมากังวลเรื่องการมีงานทำสะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อรายได้และภาวะการมีงานทำปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.6 ในเดือน ก.พ.60 จากเดิมที่ระดับ 50.4 ในเดือน ม.ค.60 สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค.-ก.พ.60 ที่พุ่งสูงขึ้นมาอยู่เหนือระดับร้อยละ 1.0 ซึ่งสูงกว่าค่าอัตราการว่างเฉลี่ยในปี 59 ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.96
ขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ก็ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.3 ในเดือน ก.พ.60 จากเดิมที่ระดับ 44.5 ในเดือน ม.ค.60 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเริ่มผ่อนคลายความกังวลต่อภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่าย และภาระหนี้สิน แต่ครัวเรือนกลับมีความกังวลมากขึ้นในเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งมุมมองของครัวเรือนที่มีความกังวลมากขึ้นนี้อาจจะเป็นแรงกดดันให้ครัวเรือนใช้จ่ายอย่างจำกัดในอนาคต แม้จะมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการครองชีพมากขึ้นก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับในเดือน ก.พ.60 แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหารสดที่มักจะมีราคาแพงขึ้นในช่วงฤดูร้อน รวมถึงติดตามสถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือนในระยะข้างหน้า
"ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวดีขึ้น โดยครัวเรือนมีความกังวลลดลงในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ขณะเดียวกันครัวเรือนกลับมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ทั้งนี้ความกังวลของครัวเรือนในเรื่องรายได้และการมีงานทำอาจจะเป็นแรงกดดันต่อการบริโภคจริงของภาคเอกชน แม้จะมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการครองชีพมากขึ้นก็ตาม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ