ม.หอการค้า หนุนคง VAT ที่ 7% มองหากปรับขึ้นช่วงนี้อาจส่งผลเศรษฐกิจไทยช็อค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2017 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากระดับปัจจุบันที่ 7% ว่า การปรับขึ้นภาษีควรจะปรับขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจมีความพร้อมจริงๆ และประชาชนมีความสามารถในการหารายได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลานั้น

นายธนวรรธ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีควรจะทำเมื่อเศรษฐกิจมีระดับการเติบโตสูง เช่น ในภาวะที่รัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 4-5% ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเศรษฐกิจมีความพร้อมมากขึ้น รวมทั้งการเก็บภาษีในช่วงที่สินค้าเกษตรมีราคาสูงหรือเป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งช่วงนั้นระบบเศรษฐกิจไทยจะมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นภาษีได้มากกว่า

ทั้งนี้ หากปรับขึ้นภาษีในขณะที่เศรษฐกิจยังพื้นตัวไม่เต็มที่อาจจะทำให้เกิดการช็อค เพราะสังคมจะเกิดความกังวลและรู้สึกว่ามีภาระในการใช้จ่ายที่สูงขึ้น และรัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นภาษีในอัตราที่สูงเกินไปภายในครั้งเดียวเหมือนอย่างประเทศญี่ปุ่น แต่หากไทยจะปรับขึ้น VAT ครั้งละ 1% ก็ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่สามารถทำได้

“การที่รัฐบาลมีแผนจะคงภาษี VAT ไว้จนถึง ก.ย.61 ก็น่าจะเป็นกรอบที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่โดดเด่นนัก การตัดสินใจขึ้นภาษีในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด sentiment ในเชิงลบได้ และถ้าเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทุกคนยังไม่มีเงินเพียงพอ การขึ้นภาษีในช่วงนั้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยช็อคได้ ดังนั้นการที่รัฐบาลมีแผนจะตรึงภาษีต่อไปอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อยจนถึง ก.ย.61 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยน่าจะมีความพร้อมมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับความจำเป็นที่ไทยจะต้องปรับขึ้นภาษี VAT จากอัตรา 7% เป็น 8% นั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องไปพิจารณาว่าไทยจำเป็นจะต้องปรับขึ้นหรือไม่ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งไทย เช่น สิงคโปร์ ยังใช้ภาษี VAT ที่อัตรา 7% เช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าประเทศที่ใช้อัตราภาษีต่ำมักจะเป็นแรงจูงใจที่ดีท่ามกลางประเทศในภูมิภาคที่เก็บภาษี VAT ในอัตรา 10% เช่น เมียนมา ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

“หากภาษี VAT ต่ำ ก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ สิงคโปร์ยังเก็บภาษีต่ำ การเป็นเมืองที่ภาษีต่ำยังช่วยในเรื่องการดึงดูดการลงทุน ดึงดูดการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นภาษีต่ำ ไม่ได้แปลว่าจะไม่เป็นประโยชน์ แต่หากมีการวิเคราะห์แล้วว่าการเก็บภาษี VAT ที่ 7% ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่ออนาคตของประเทศ และประเทศไทยยังเก็บภาษีได้ในระดับต่ำ และถ้ายังไม่สามารถดึงคนเข้ามาในระบบฐานภาษีได้อย่างเพียงพอ การขึ้น VAT อาจเป็นเรื่องจำเป็น" นายธนวรรธน์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ