นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ FOMC จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% โดยเชื่อว่าสหรัฐจะพิจารณาจากปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน ซึ่ง FOMC เชื่อว่าการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50%
"สถานการณ์ในขณะนี้ การที่เฟดจะตัดสินใจเช่นนั้น เป็นเพราะเฟดเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 2-2.5% และคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐไม่น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเฟดได้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยมา 1 ปีแล้ว ในปี 59 เพราะเศรษฐกิจโลกผันผวน ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตที่ดีขึ้น สหรัฐจึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนำหลายประเทศไปก่อนนั้นอาจส่งผลให้มีเม็ดเงินโยกกลับไปที่สหรัฐ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทในช่วงนี้มีทิศทางอ่อนค่า และมีโอกาสแตะระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ได้ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ อย่างไรก็ดีการที่เงินบาทอ่อนค่าจะกลับเป็นประโยชน์หรือสร้างแต้มต่อให้กับประเทศในเรื่องของการส่งออกและการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปนั้น เชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ในระยะสั้นที่เงินจะไปพักอยู่ที่สหรัฐก่อน เพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนในระยะต่อไป แต่ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ของไทยนั้น มองว่า ยังมีการให้ผลตอบแทนในระดับสูง ยังมีแรงจูงใจที่จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในไทย ดังนั้นเงินทุนที่ไหลออกในช่วงสั้นๆ กรณีสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนั้นคงไม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
"โดยสุทธิแล้ว เราน่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้ามากกว่าไหลออก เช่น การค้าที่ยังเกินดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ต่างชาติยังสนใจเข้ามาซื้อตราสารหนี้ ตราสารทุน และเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจทำให้บาทอ่อนระยะสั้น ดอลลาร์แข็งค่า แต่ภาพระยะปานกลาง น้ำมันและทองคำจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น พอมีเงินไหลเข้ามาทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยวในไทย บาทก็จะค่อยๆ ทรงตัว คงอยู่ในระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ และไม่เป็นตัวบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย" นายธนวรรธน์ ระบุ
ทั้งนี้ หากสหรัฐตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อค โดยมีเงินไหลออกไปพักที่สหรัฐ โดยไม่ไหลกลับเข้าไปยังประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เติบโตช้า และมีการทำสงครามค่าเงินกัน เมื่อนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่ากรณีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น
"เฟดคงเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จะไม่กระเทือนต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนในปี 58 ดังนั้นภาพในเชิงลบจึงไม่ควรเกิด เว้นแต่เงินไหลไปอยู่ที่สหรัฐประเทศเดียว แล้วไม่มีเงินเข้าประเทศอื่นเลย เศรษฐกิจหลายประเทศเติบโตช้า จึงจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ต้องติดตามเป็นระยะ" นายธนวรรธน์ กล่าว