คลัง เผยหนี้สาธารณะคงค้าง สิ้น ม.ค.60 คิดเป็น 41.97% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2017 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 มีจำนวน 6,059,644.61 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.97% ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4,596,971.41 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 979,480.31 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 463,685.79 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานของรัฐ 19,507.10ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 137,922.48 ล้านบาท

โดยในส่วนของหนี้รัฐบาล จำนวน 4,596,971.41 ล้านบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 138,553.69 ล้านบาทโดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

1.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 139,863.77 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เงินกู้ระยะสั้น เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของตั๋วเงินคลัง 60,000 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล 40,000 ล้านบาท
  • เงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้น 39,863.77 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 79,863.77 ล้านบาท และการลดลงของพันธบัตรรัฐบาลจากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นเงินกู้ระยะสั้น 40,000 ล้านบาท

2.การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ จำนวน 2,238.77 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,286.61 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 801.90 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน จำนวน 473.09 ล้านบาท และสายสีม่วง จำนวน 11.62 ล้านบาท และ (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 952.16 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟ สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย จำนวน 424.54 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 259.42 ล้านบาท โครงการปรับปรุงทางที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ จำนวน 210.47 ล้านบาท และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 57.73 ล้านบาท

3.การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 3,953 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

4.หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้น 404.15 ล้านบาท เนื่องจากการเบิกจ่ายโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 3 จำนวน14,004.12 ล้านเยน หรือ 4,388 ล้านบาท และการชำระคืน Euro commercial paper (ECP) จำนวน 12,344.09 ล้านเยน หรือ 3,868 ล้านบาท รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ลดลง 22.55 ล้านบาท เป็นสำคัญ

ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 979,480.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,929.13 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

1. หนี้ในประเทศเพิ่มขึ้น 8,422.74 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นสุทธิ จำนวน 5,051.41 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเบิกจ่ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นสำคัญ รวมถึงหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นสุทธิ จำนวน 3,371.33 ล้านบาท โดยมาจากการเบิกจ่ายของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นสำคัญ

2. หนี้ต่างประเทศลดลง 6,493.61 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และผลการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ลดลงสุทธิ จำนวน 1,379.15 ล้านบาท

ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 463,685.79 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,561.53 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 19,507.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.19 ล้านบาท จากการเบิกจ่ายเงินกู้ของหน่วยงานของรัฐ

อย่างไรก็ดี สำหรับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2560 จำนวน 6,059,644.61 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 5,736,596.15 ล้านบาท หรือ 94.67% และหนี้ต่างประเทศ 323,048.46 ล้านบาท (ประมาณ 9,323 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 5.33% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,289,931.20 ล้านบาท หรือ 87.30% และหนี้ระยะสั้น 769,713.41 ล้านบาท หรือ 12.70% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ