ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกระทบเศรษฐกิจไทยในกรอบจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2017 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติ “ปรับขึ้น” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 0.50-0.75% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมรอบสองของปี 2560 เนื่องจาก พัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มมีสัญญาณที่ปรากฎชัดเจนมากขึ้น กอปรกับปัจจัยความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้เริ่มคลายตัวลงบางส่วน ซึ่งภาพทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นสนับสนุนให้เฟดสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เฟดจะต้องเร่งจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อันอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้

มุมมองในระยะข้างหน้า สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดยังคงมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่า อาจเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ 3 ของปีนี้ จะมีโอกาสเพิ่มขึ้น หากเฟดส่งสัญญาณที่พร้อมจะคุมเข้มมากขึ้นใน dot plot ที่จะเปิดเผยหลังการประชุม FOMC รอบนี้ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงรักษาระดับการฟื้นตัว เงินเฟ้อยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอก อาทิ ประเด็นการเมืองในยุโรป และปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผลต่อไทยนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเงินบาทของไทย ให้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อ่อนค่า อันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีการไหลออกของเงินทุน และอาจกดดันต้นทุนทางการเงินในช่วงสั้นให้ปรับตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน จากระดับทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลแข็งแกร่งต่อเนื่อง รวมทั้งสภาพคล่องในประเทศที่ยังมีอยู่มาก ทำให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อเศรษฐกิจไทย น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า คงต้องจับตาผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อประเทศที่มีมาตรวัดเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแรงมากนัก อาทิ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงสถานการณ์เงินทุนไหลออกของจีน ที่อาจจะย้อนกลับมาสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ