ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีมูลค่า 288,700 ล้านบาท และน่าจะแตะ 306,400 ล้านบาท ในปี 2561 หากสามารถแก้ไขปัญหา ICAO และ FAA ได้สำเร็จ เทียบกับในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ที่จะมีมูลค่า 286,200 และ 294,500 ล้านบาทในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนับได้ว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยคาดว่าการแก้ไขปัญหา ICAO และ FAA สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในครึ่งแรกของปี 2560 ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 สามารถค่อยๆปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่เติบโตดีอยู่แล้ว และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจสายการบินของไทยสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับโครงสร้างกรมการบินพลเรือนออกเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมท่าอากาศยานเพื่อเป็นการแยกผู้คุมกฏระเบียบ (Regulator) และผู้ให้บริการ (Operator) อีกทั้ง ครม.ยังได้อนุมติร่าง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ... เพื่อให้เกิดความทันสมัยสอดคล้องกับกติกาของ ICAO นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (Significant Safety Concerns: SCC) 33 ข้อ ยังได้คืบหน้ากว่า 75% โดยตั้งเป้าหมายว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายนนี้
ประเด็นหลักสำคัญที่ ICAO ขึ้นธงแดงนั้นอยู่ที่ กระบวนการออก AOC ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO ซึ่งได้มีการว่าจ้างบริษัท CAAI สังกัดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งราชอาณาจักรในการออก AOC ร่วมกับ Inspector ของ กพท.ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของ ICAO ปัจจุบันมีสายการบินที่ได้รับ AOC ใหม่แล้วจำนวน 1 สายการบิน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ขณะที่อีก 8 สายการบินอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดย กพท.คาดว่า จะสามารถออก AOC ใหม่ให้แก่สายการบินหลักจำนวน 9 สายการบินซึ่งมีผู้โดยสารคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 75 ของผู้โดยสารทั้งหมดได้ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเชิญ ICAO มาตรวจสอบเพื่อปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยซึ่งช่วงเวลาที่กทพ. ประมาณการไว้คือราวเดือนกรกฎาคม 2560
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยจะสามารถดำเนินการออก AOC ใหม่ให้กับทั้ง 9 สายการบินหลักซึ่งเป็นสายการบินที่มีเส้นทางการบินประจำระหว่างประเทศได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอให้ ICAO พิจารณาปลดล็อกธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยได้ภายในครึ่งหลังของปี 2560 โดยหากแผนดังกล่าวเป็นไปตามคาด จะส่งผลให้ไทยใช้เวลาในการแก้ปัญหา ICAO ทั้งหมดประมาณ 2 ปี และเร็วกว่าระยะเวลา 4 ปีที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งเคยถูกติดธงแดงหน้าชื่ออย่างฟิลิปปินส์และเลบานอนใช้แก้ปัญหา แต่ในกรณีของไทยที่ได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้คำแนะนำเพื่อยกระดับมาตรฐานทางการบินตามที่ ICAO และ EASA กำหนด จึงคาดว่ากรอบระยะเวลาดังกล่าวน่าจะพอมีความเป็นไปได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อปรับการจัดอันดับของ FAA จาก Category 2 (ไม่ได้มาตรฐานตาม ICAO) เป็น Category 1 (ได้ตามมาตรฐานของ ICAO) นั้น หากไทยสามารถแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อกธงแดงได้สำเร็จ การปรับชั้นอันดับของ FAA ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางบวกเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากการแก้ไขปัญหาความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการบินของไทยสามารถบรรลุสำเร็จ จะส่งผลต่อ ภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นที่มีต่อธุรกิจสายการบินของไทยและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ ธุรกิจภาคพื้นดิน ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากจะเป็นการลดข้อกังขาที่มีต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย รวมทั้งลดอุปสรรคที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางด้านการบินจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับการเปิดเส้นทางการบินใหม่ รวมถึงสามารถเพิ่มเที่ยวบินและเพิ่มขนาดเครื่องบินในตลาดที่กำลังมีการเติบโตอย่างมีศักยภาพได้ โดยจะทำให้สายการบินของไทยที่เดิมมีแผนขยายเส้นทางการบินไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แต่ต้องชะลอไว้ แล้วหันไปบินในเส้นทางอื่นซึ่งมีศักยภาพที่เป็นรองกว่า สามารถกลับมาดำเนินการตามแผนขยายเส้นทางการบินเดิมได้ อีกทั้งจะทำให้สามารถกลับมาบินไปยังเส้นทางสหรัฐอเมริกา ตามแผนที่ได้วางไว้ได้
"ธุรกิจการบินของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤติความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการบินไปแล้ว โดยในระยะข้างหน้าการแก้ปัญหา ICAO และ FAA น่าจะมีความคืบหน้าออกมาเป็นระยะ จนกระทั่งกระบวนการแก้ปัญหาสามารถแล้วเสร็จได้ภายในครึ่งแรกของปี 2560 และทำให้ไทยสามารถปลดล็อกจากข้อจำกัดด้านความเชื่อมั่นทางการบินได้สำเร็จในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้สายการบินของไทยสามารถดำเนินการขยายเส้นทางการบินพร้อมทั้งดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ภาพรวมของธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 น่าจะปรับตัวขึ้นได้เป็นอย่างดี และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจสายการบินในปี 2561 ให้สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
ทั้งนี้ หากมองภาพรวมของโอกาสธุรกิจสายการบินของไทย การปลดล็อกปัญหาความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยทางการบินจะเป็นปัจจัยผลักดันเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดรับกับการมีพื้นฐานธุรกิจการบินที่เข้มแข็งอยู่เดิม จากจุดแข็งสำคัญคือ สายการบินของไทยมีโครงข่ายเส้นทางการบินที่เชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม อีกทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งรัฐบาลได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าอากาศยานของไทย 39 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนกว่า 227 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี เพื่อสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 138.96 ล้านคน ซึ่งประเด็นสนับสนุนดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของสายการบินของไทยที่มีแผนการขยายฝูงบินและขยายตลาดการบินไปยังจุดหมายปลายทางทั้งในภูมิภาคและทั่วโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือสามารถกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สายการบินของไทยไม่เพียงแต่จะให้บริการเชื่อมโยงเส้นทางการบินระหว่างประเทศไทยกับจุดหมายปลายทางทั่วโลกเท่านั้น แต่จะมีฐานะเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจุดหมายปลายทางอื่นๆ ทั่วโลก ท่ามกลางสภาวะการคมนาคมทางอากาศของโลกที่มีทิศทางขยายตัวเป็นอย่างมากในอนาคต
นอกจากนี้ การเป็นศูนย์กลางทางการบินดังกล่าวจะสะท้อนไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Overhaul: MRO) ให้ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เนื่องเพราะนอกจากไทยจะมีอุปสงค์ต่อความต้องการบำรุงรักษาอากาศยานที่เพิ่มขึ้นตามขนาดฝูงบินแล้ว การที่มีภูมิศาสตร์ตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยู่ในเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการเครื่องบินมากที่สุด คิดเป็น 40% ของความต้องการเครื่องบินใหม่ทั่วโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า น่าจะก่อให้เกิดโอกาสอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ MRO
ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ค่ายยุโรปได้มีการลงนามร่วมกับสายการบินของไทยในการตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาแล้ว โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในอีกระยะ 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยจะมีมูลค่า 25,200-29,400 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10.7-13.6% ต่อปี เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2559 ที่ 13,700 ล้านบาท
เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีโอกาสในการพัฒนาจากความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกันกับอุตสาหกรรม MRO อีกทั้งไทยยังมีจุดเด่นจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อส่งออกได้ โดยปัจจุบันมีบริษัทชิ้นส่วนอากาศยานลงทุนในประเทศไทยประมาณ 22 บริษัท วงเงินรวมกว่า 8,561 ล้านบาท รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อย่าง ธุรกิจคลังสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมอบสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาที่ไทยตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดของเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้บริการแก่สายการบินทั่วภูมิภาคและทั่วโลก โดยหากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะเป็นการเติมเต็มให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการบินมีความครบวงจร อันจะนำมาซึ่งปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกันของแต่ละในห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตไปพร้อมกัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินของไทยเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในระยะยาวได้ในอนาคต