นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่า ได้มีการสั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมและความคืบหน้าแผนปฏิบัติการ EEC ในแต่ละโครงการให้มีความชัดเจน เพื่อที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมนโยบายฯ ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก และหลายประเทศให้ความสนใจโครงการ EEC และเชื่อว่าเมื่อมีการประกาศแผนงานที่ชัดเจนประเทศเพื่อนบ้านคงต้องมีการขยับตัวด้วยเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.- ระยองนั้น ได้เตรียมประกาศ TOR ให้ได้ช่วงก่อนกลางปีนี้ และเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้แน่นอน และต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงกับ 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) อย่างไร้รอยต่อ
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้งเมืองการบินภาคตะวันออกในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมในเรื่องอุตสาหกรรมการบิน เรื่องระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการบินทั้งหมด พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ ซึ่งเชื่อว่าความพร้อมของสนามบินอู่ตะเภาจะไม่แพ้สนามบินสุวรรณภูมิเลย
สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ในพื้นที่ EEC นายสมคิด กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมนำเสนอโครงการรถยนต์ไฟฟ้าเสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมในอุตสากรรมอื่นๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ในช่วงปลายปีนี้ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เป็นต้น
ทางด้านการพัฒนาเมืองใหม่ นายสมคิด ระบุว่า ได้มีการสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมความพร้อมโครงการ ซึ่งจะมีการพัฒนาเมืองใหม่หลังจากโครงการด้านการบินและรถไฟเดินหน้าไปแล้ว
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯให้นำ 5 โครงการลงทุนหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) และการพัฒนาเมืองใหม่ เป็นโครงการนำร่อง เพราะเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ทั้งนี้ ที่ประชุมกรศ.ได้มีการหารือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯถึงสนามบินอู่ตะเภาในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง จากการศึกษาพบว่า จากกรุงเทพฯถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กิโลเมตร หากมีโครงการรถไฟความเร็วสูง ในความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่แวะพัก จะใช้เวลาประมาณ 40-45 นาทีเท่านั้น เทียบเท่ากับการเดินทางจากเมืองโตเกียวไปยังเมืองนาริตะ ซึ่งที่ประชุมรับทราบว่า ทางเทคนิคสามารถทำได้ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาเพิ่มเติมและนำข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมกรศ.ในครั้งต่อไป
อีกทั้งให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โดยมีมติรับทราบความสำคัญของสนามบินอู่ตะเภาในการสนับสนุนสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ให้เกิดความเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินเพื่อเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติของไทย และเป็นการรองรับผู้โดยสารที่จะมากขึ้นในอนาคต
พร้อมกันนี้ มีมติเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการนโยบายฯจัดตั้ง เมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา โดยให้เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแห่งแรก ซึ่งในช่วงกลางปีนี้มีความชัดเจนในเรื่องTOR ที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนว่ามีโครงการใดบ้าง
สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก จะประกอบไปด้วย การเพิ่ม 2 ทางวิ่งมาตราฐาน และการกำหนดกลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาคาร ผู้โดยสารและการค้า เพื่อรองรับผู้โดยสาร 15-30-60 ล้านคน ในระยะเวลา 5-10-15 ปีตามลำดับ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ในลักษณะเขตการค้าเสรี เพื่อประกอบอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อโยงกับสนามบิน 3.กลุ่มธุรกิจขนส่งอากาศยาน ทั้งกลุ่มคาร์โก้ สินค้าทางไปรษณีย์ และคลังสินค้าเทคโนโลยีสูง 4.กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และ5.กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน
โดยให้เร่งรัดการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกให้เร็วที่สุด ทั้งในเรื่องการลงทุนระยะสั้นตามมติครม. โดยเฉพาะการศึกษาออกแบบและงบลงทุนทางวิ่งที่ 2 การเร่งรัดโครงการร่วมทุนศูนย์ซ่อมอัจฉริยะระหว่างการบินไทยและแอร์บัส การศึกษาการลงุทนเพื่อจัดทำเอกสารชี้ชวนการลงทุนให้แล้วเสร็จในปลายปีนี้และการจัดทำระเบียบเอกชนร่วมทุน หรือ PPP ภายใน 3 เดือน เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการในพื้นที่ EEC
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบอาจจะมีการเพิ่ม 3 กิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต คือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยมอบให้กองทัพเรือศึกษาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม
นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปทำการศึกษา เรื่องการพัฒนาคนและรับฟังความคิดเห็นถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่จะได้รับด้วย