รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอ็ม) ได้สรุปผลการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำหลายประการ โดยปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ผลการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีน การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมทั้งก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก
“ประเทศไทยยังมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายและมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงที่อาจติดกับดักเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ อย่างไรก็ดี ในขณะที่ปัจจัยเชิงวัฎจักรเริ่มปรับดีขึ้น ไทยมีลักษณะที่จะติด new mediocre หรือ ภาวะเศรษฐกิจเติบโตเชื่องช้า และอัตราเงินเฟ้อต่ำเช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการจ้างงานและการลงทุน ทำให้การคาดการณ์อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง"รายงานไอเอ็มเอฟ ระบุ
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้แนะนำให้ไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผสมผสานทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศระยะสั้น และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยลดการเกินดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะกลาง และจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงปรับแข็งค่าขึ้นผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ที่แท้จริง
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอ็มยังเสนอให้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนควบคู่กับการปรับปรุงการสื่อสารนโยบายเพื่อช่วยให้ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย โดยนโยบายการเงินในลักษณะดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งช่วยป้องกันการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและภาระหนี้ที่แท้จริง หากอัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้นจะช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำได้เร็วขึ้นและทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ไอเอ็มเอฟยังสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นแรงส่งสำคัญในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการนำเข้าที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจและทำให้ฐานะต่างประเทศสมดุลมากขึ้น
แต่ไอเอ็มเอฟเห็นว่าไม่ควรใช้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนมาตรการระยะสั้นที่ไม่ตรงเป้าหมายและไม่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว โดยภาครัฐมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รองรับรายจ่ายสวัสดิการทางสังคมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และช่วยรักษาความยั่งยืนของหนี้สาธารณะในระยะยาว พร้อมทั้งควรปฏิรูประบบบำนาญแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่องของระบบและรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในระยะข้างหน้าด้วย
และ ไอเอ็มเอฟเห็นว่าไทยควรดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง การปฏิรูปร่วมกันโดยทุกภาคส่วนควรพิจารณาปัจจัยทั้งหมดที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับความท้าทายที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเพิ่มกำลังแรงงานด้วยการลดความไม่เท่าเทียมทางเพศและเพิ่มอายุเกษียณ การอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานของฝีมือแรงงาน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร