นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่ากรมสรรพากรคืนภาษีให้ผู้ขอคืนแตกต่างกัน ระหว่างผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์กับผู้ที่ไม่ลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์ว่า ในปี 2559 รัฐบาลมียุทธศาสตร์ National e-Payment โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบรับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และลดต้นทุนการใช้เงินสดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งโครงการพร้อมเพย์เป็นโครงการหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
กรมสรรพากรได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากโครงการพร้อมเพย์ จึงได้เริ่มต้นการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ในปี 2560 เป็นปีแรก โดยการคืนภาษีเข้าบัญชีพร้อมเพย์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการได้รับคืนเงินภาษี ลดระยะเวลาในการเดินทางนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคาร ไม่ต้องรอรับเช็คคืนภาษีทางไปรษณีย์ รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องเช็คคืนภาษีส่งไม่ถึงมือผู้รับ/เช็คคืนภาษีสูญหาย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ขอคืนภาษีที่ไม่ได้รับเช็คกว่าแสนฉบับ อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในภาพรวมอีกด้วย
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระบบจะวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษี หากไม่ติดเกณฑ์ผิดปกติ จะอนุมัติสั่งคืน และส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมวลผลข้อมูลเพื่อตรวจสอบว่าผู้ขอคืนมีการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้หรือไม่เป็นลำดับแรก หากมีการผูกบัญชีไว้ ธนาคารจะนำเงินคืนภาษีเข้าบัญชีในวันรุ่งขึ้น ส่วนรายที่ยังไม่มีการผูกบัญชีพร้อมเพย์ ระบบจะทำการตรวจสอบการผูกบัญชีพร้อมเพย์อีกระยะหนึ่ง เพื่อรองรับการผูกบัญชีพร้อมเพย์ภายหลังการยื่นแบบของผู้ขอคืนว่ามีการผูกบัญชีพร้อมเพย์เพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ขอคืนไม่มีบัญชีพร้อมเพย์ ระบบจะทำการสั่งพิมพ์เช็ค และส่งไปรษณีย์ตามขั้นตอนต่อไป
จากข้อมูลสถิติการยื่นแบบฯ และการขอคืนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงปัจจุบัน พบว่าผู้ขอคืนภาษีส่วนใหญ่มีการผูกบัญชีพร้อมเพย์อยู่แล้วกว่า 60% และบางส่วนอยู่ระหว่างการลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากการคืนภาษีมีความสะดวก รวดเร็ว และนำเงินเข้าบัญชีธนาคารให้โดยอัตโนมัติ
"กรมสรรพากรมิได้มีมาตรการบังคับให้ผู้ขอคืนลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์แต่อย่างใด ซึ่งหากผู้ขอคืนไม่มีการสมัครใช้บริการระบบพร้อมเพย์ ก็สามารถได้รับเงินคืนภาษีเป็นเช็คส่งไปรษณีย์แบบเดิม" นายประสงค์ ระบุ