เม็กซิโกเปิดโควต้านำเข้าข้าว 1.5 แสนตัน ไทยได้รับจัดสรรข้าวขาวเมล็ดยาว 7.9 พันตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 15, 2017 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกว่า รัฐบาลกลางเม็กซิโกตัดสินใจเปิดโควต้านำเข้าข้าว เพื่อให้สินค้าในตลาดมีราคาต่ำลงและตอบสนองต่อความต้องการตลาดในประเทศ ซึ่งไทยได้รับการจัดสรรโควต้าในพิกัด 1006.30.99 ประเภทข้าวขาวเมล็ดยาว และเม็กซิโกยังให้สิทธิแก่ประเทศอื่นด้วย ได้แก่ อาร์เจนติน่า อินเดีย อิตาลี อุรุกวัย เวียดนาม และสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้านอกโควต้าจากทุกประเทศต้องเสียภาษี 20%

กระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโกได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา (Official Gazette) เรื่อง มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับโควต้านำเข้าข้าว 5 ประเภทตามพิกัดศุลกากร โดยคิดภาษีนำเข้า 0% และกำหนดปริมาณโควต้าข้าวรวม 5 ประเภททั้งสิ้น 150,000 ตัน และบริษัทเอกชนผู้นำเข้าได้รับสิทธินำเข้าไม่เกิน 10,000 ตัน/ราย มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งการจัดสรรโควต้าเป็นลักษณะที่ผู้นำเข้ารายใดยื่นก่อนได้สิทธิก่อน และผู้นำเข้าแต่ละรายสามารถยื่นขอใช้สิทธิได้ที่กระทรวงเกษตรปศุสัตว์ของเม็กซิโก (SENASICA)

"เม็กซิโกตัดสินใจเปิดโควต้านำเข้าข้าว 150,000 ตันนี้ คิดเป็น 13% ของปริมาณการบริโภคข้าวทั้งสิ้นกว่า 1,125,000 ตันในปี 2559 ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 82.62% คิดเป็น 929,482.09 ตัน เพิ่มขึ้น 7.16% โดยในจำนวนนี้เม็กซิโกนำเข้าข้าวขาวเมล็ดยาวจากไทยเป็นอันดับที่ 4 (3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ อุรุกวัย และอาร์เจนติน่า ตามลำดับ) ในปริมาณ 7,690 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.32%" รมว.พาณิชย์กล่าว

กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก เร่งประสานผู้นำเข้าข้าวไทยรายสำคัญในเม็กซิโกให้ทราบแล้ว ประกอบด้วย บริษัทคุเม (Kume) บริษัทอาลมาเซเนซ วาก้า (Almacenes Vaca) บริษัทโนวาลิเมนโตส (Novalimentos) และบริษัทเวร์เด วาลเย่ (Verde Valle) ในเบื้องต้นบริษัทคุเม ได้ติดต่อกระทรวงเกษตรปศุสัตว์ของเม็กซิโก เพื่อขอยื่นใช้สิทธิโควต้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันปลูกข้าวชนิดเดียวกันกับไทย คือ ข้าวเมล็ดยาว Indica ในรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐฯ และมีผลผลิตข้าวเมล็ดยาวมากถึง 70% ของผลผลิตข้าวทั้งหมดที่ปลูกได้

แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเม็กซิโกผลักดันให้เพิ่มการผลิตข้าวในประเทศจนสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น 8.58% แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องตัดสินใจเปิดโควต้านำเข้าข้าวในปี 2560 นี้ เพื่อให้ราคาต่ำลง อย่างไรก็ดีการเปิดโควต้าครั้งนี้ สอดคล้องกับที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการขยายตลาดข้าวไทยในเม็กซิโกร่วมกับผู้นำเข้า/ห้างสรรพสินค้าคอสท์โก เม็กซิโก (Costco Mexico) ที่มีถึง 37 สาขา ในระหว่างเดือนเม.ย. – ก.ย.60 เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักและติดตลาดเพิ่มขึ้น

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีของไทยที่ควรเร่งขยายตลาดส่งออกข้าวไปยังเม็กซิโก กลยุทธ์ที่ภาครัฐและผู้ส่งออกไทยควรใช้เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด คือ การประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของข้าวหอมมะลิไทยที่โดดเด่นแตกต่างจากข้าวพันธุ์อื่นๆ แสดงให้ผู้บริโภคทราบเรื่องราวความสำคัญของแหล่งปลูกข้าวของไทย และต้องพัฒนาการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ให้สามารถลดต้นทุนการส่งออกที่เป็นปัจจัยสำคัญด้านราคา และหากผู้ส่งออกไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังตลาดข้าวไทยในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคลาตินอเมริกา

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของไทยปัจจุบันนำเข้าเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังร้านอาหารโดยเฉพาะร้านอาหารเอเชีย อย่างไรก็ดี จากรายงานวิเคราะห์ตลาดพบว่าชาวเม็กซิกัน 7 ใน 10 เลือกซื้อสินค้าอาหารในซุปเปอร์มาร์เกตผู้ส่งออกไทยจึงควรมุ่งจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าและซุปเปอร์มาร์เกต เช่น วอลมาร์ท (Walmart) และเชดราอุย (Chedraui) เพื่อจับตลาดค้าปลีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ