BOI นำ SME ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ลุยกิจกรรมจับคู่ผู้ผลิตรายใหญ่ในตปท. หวังขยายเครือข่าย-เชื่อมโยงอุตฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 16, 2017 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ หน่วยบิลด์ได้จัดกิจกรรมนำผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และอยู่ระหว่างการขยายฐานธุรกิจไปสู่การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ เดินทางไปร่วมงานเมดิคัล ดีไวน์ ดีเวลล็อปเมนท์ เอ็กโป 2017 (Medical Device Development Expo 2017) ซึ่งเป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมทางการแพทย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

โดยผู้ประกอบการของไทยจาก 12 บริษัทได้นำตัวอย่างที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นผลิตจากฝีมือคนไทย ร่วมจัดแสดงภายในงาน เช่น เตียงทันตกรรมแบบพกพา เตียงคนป่วย และผลิตภัณฑ์สายยางน้ำเกลือ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย จำนวน 132 ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดการซื้อขายในอนาคต 113 คู่ คิดเป็นมูลค่าการค้าร่วมกันประมาณ 520 ล้านบาท

ในโอกาสนี้ หน่วยบิลด์ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครโอซากา (บีโอไอ โอซากา) นำคณะผู้ผลิตไทยเข้าเยี่ยมชมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิเอะ (Mie University) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านผลงานวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และที่ผ่านมาได้ร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนากับคณะแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นของประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น เมียนมา สปป.ลาว ในการวิจัยกระดูกสันหลังเทียมทำจากโลหะไทเทเนียม ซึ่งได้รับความสนใจในวงการแพทย์อย่างมาก

นอกจากนี้ยังนำผู้ประกอบการไทยเข้าชมเทคโนโลยีทางการแพทย์ของบริษัท มาสเคิล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตหุ่นยนต์ช่วยดูแลรักษาพยาบาล และอุปกรณ์ทุ่นแรงของพยาบาล โดยบริษัทได้สาธิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล (Robohelper Sasuke) ในการช่วยเหลือคนไข้นอนติดเตียง รวมถึงนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น หุ่นยนต์ใช้ในงานก่อสร้างชื่อ Yume Robo ซึ่งใช้มอเตอร์ในการควบคุมสั่งการทำงาน

"หน่วยบิลด์มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ นี้ จะช่วยสร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปจนถึงช่วยขยายตลาดสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้หน่วยงานในต่างประเทศเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกในอนาคตได้อย่างภาคภูมิ" นายวิรัตน์ กล่าว

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมของไทยมีความสามารถและมีศักยภาพขยายฐานการผลิตไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้อีกมาก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 อย่างไรก็ตามผู้ผลิตจำเป็นต้องให้ความสนใจศึกษา พัฒนา และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ตลอดปี 2560 หน่วยบิลด์มีแผนจัดกิจกรรมนำเอสเอ็มอีไทยเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าและศึกษาศักยภาพการผลิตกับผู้ผลิตรายใหญ่ในหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น งานฮันโนเวอร์ (Hannover Messe 2017) ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมหกรรมงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกด้านเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมและระบบอัตโนมัติต่างๆ สำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

สำหรับในช่วงเดือนเมษายน 2560 จะนำผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าเมดเทค เจเปน 2017 (MEDTEC Japan 2017) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยงานดังกล่าวเป็นงานแสดงเทคโนโลยีทางการแพทย์จากบริษัทแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่นที่รวมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology, Cutting-Edge Technology) กลุ่มผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ และกลุ่มเภสัชกรรม เป็นต้น โอกาสนี้จะจัดให้มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเอสเอ็มอีของไทยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการขยายเครือข่ายการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและส่งเสริมการรับช่วงผลิตจากต่างประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ