สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการเรื่อง "ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนและพัฒนาต้นแบบธุรกิจบริการ" เพื่อพัฒนาและยกระดับบริการของไทยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) เนื่องจากธุรกิจบริการถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และในปัจจุบันนี้ธุรกิจบริการมีหลากหลายรูปแบบ และบริการบางประเภทยังเป็นต้นทุนของสินค้าและช่วยในการสนับสนุนภาคการผลิต รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งเศรษฐกิจมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไร ภาคบริการจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปเป็นลำดับ
จากข้อมูลปี 2015 พบว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว ภาคบริการมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐฯ มีตัวเลขเศรษฐกิจภาคบริการคิดเป็น 77.6% ของ GDP และญี่ปุ่น 72.2% ขณะที่ประเทศไทยที่มีสัดส่วน GDP ภาคบริการอยู่ที่ 51.90% จัดอยู่ในอันดับที่ 128 จาก 180 ประเทศ สัดส่วนของ GDP ภาคบริการของไทยมาจากบริการด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ (ที่มา:World Fact Book, 2015) และเป็นสาขาบริการที่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ถือเป็นสาขาบริการที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจบริการอื่นๆ ที่มีความสำคัญและสามารถส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาได้อีกมากมาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นควรให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ทางการค้าและการลงทุนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น รวมถึงการทำต้นแบบธุรกิจบริการ เพื่อให้เห็นแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาที่ชัดเจน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศจากบริบทดังกล่าวนี้ จึงได้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจต้นแบบบริการที่เป็นเป้าหมาย 3 สาขาสำคัญ อันได้แก่ สาขาธุรกิจบริการโลจิสติกส์ (Logistics) สาขาธุรกิจบริการสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Healthcare and Wellness) และสาขาบริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)
ในปีที่ผ่านมา โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนและพัฒนาต้นแบบธุรกิจบริการ ได้มีการพัฒนาและยกระดับบริการของไทยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) เช่นเดียวกับฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอันประกอบด้วยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน 4 ประการ ได้แก่
1) การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายกฎระเบียบ ข้อกำหนดและมาตรฐานการให้บริการสำหรับธุรกิจบริการไทย โดยต้องมีการทบทวนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนถึงข้อกฏหมาย กฎระเบียบและข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของธุรกิจบริการใหม่ๆ และสร้างมาตรฐานในการบริการให้มีความเป็นสากลและการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีของธุรกิจบริการ
2) การส่งเสริมภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกหรือขยายกิจการไปยังต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV และ ASEAN และ RECP (ASEAN+6) โดยการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าในธุรกิจบริการ เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมของการขยายตลาดธุรกิจบริการเดิมและสร้างธุรกิจบริการใหม่ๆ
3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจบริการไทย เพื่อผลักดันและสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงโดยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของธุรกิจบริการอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจบริการไทย โดยสร้างและพัฒนาบุคลากรในธุรกิจบริการอย่างมีคุณภาพ การจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางหรือโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจบริการ เช่นเดียวกับการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในอดีต เช่น การตั้งสถาบันสิ่งทอ การตั้งสถาบันยานยนต์และการตั้งสถาบันอาหารเป็นต้น ซึ่งสถาบันเหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมของไทยมีความเข็มแข็งและมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ที่ต่อเนื่องจากธุรกิจบริการที่มีศักยภาพในแต่ละพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
4) การส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาในธุรกิจบริการและธุรกิจต่อเนื่อง โดยส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจตั้งต้นใหม่ (Startup) ธุรกิจ SME รวมถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจบริการและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ลักษณะการบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ ความสำเร็จและการพัฒนาของธุรกิจบริการเป้าหมายทั้ง 3 สาขา กับการขับเคลื่อนใน 4 ยุทธศาสตร์นั้น หากเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนทั้งในธุรกิจระดับเล็ก ธุรกิจระดับกลาง และระดับใหญ่ ที่จะผลักดันให้ธุรกิจบริการอีกหลายสาขาสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการใหม่ๆ เหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือ ผลักดันและสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ต้องให้ความสำคัญและพร้อมที่จะได้รับกับการปรับตัวให้มีความเข็มแข็งในอนาคต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการเหล่านี้ โดยต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลงานด้านสุขภาพและอนามัยของประชาชน และหน่วยงานอื่นๆ ในแต่ละประเภทของธุรกิจบริการ การดำเนินการในรูปแบบการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างกันจะนำไปสู่มาตรฐานและคุณภาพของธุรกิจบริการใหม่ๆ ซึ่งจะนำประเทศไทยให้สามารถพัฒนาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ในอนาคต