นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)คาดว่า 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ในพื้นที่เขต EEC จะขอรับการส่งเสริมได้ในปลายปีนี้ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะนำเสนอต่อครม.เป็นแพ็กเกจสนับสนุน EV โดยเฉพาะเรื่องภาษี ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ และทยอยขอรับการสนับสนุนกับอุตสาหกรรมใหม่โดยถัดมาเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อีก 1 เดือน , Bioeconomy, Medical Hub , อุตสาหกรรมการบิน
โดยขณะนี้ มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นและเยอรมันสนใจในธุรกิจ EV เรื่องหุ่นยนต์ ก็มีนักลงทุนญี่ปุ่นแสดงความสนใจ ขณะที่ Medical Hub ทางเอกชนญี่ปุ่นก็สนใจเช่นกัน ส่วน BIOECONOMY มีกลุ่มปตท.เข้ามาลงทุน
"ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 อุตสาหกรรม เราจะทำเป็น Package ลงทุน และปลายปีนี้จะมีคนเข้ามาขอกับ BOI “ นายคนิศ กล่าว
ขณะเดียวกัน จะเสนอร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเสนอต่อครม.ในปลายเดือนมี.ค.หรือต้นเม.ย. จากนั้นเข้าสภาก่อน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้
ทั้งนี้ ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)จะลงพื้นที่ สำรวจพื้นที่ อาทิ สนามบินอู่ตะเภา
นายคณิศ กล่าวว่า ในช่วงปีแรก คือปี 60 จะเร่ง 5 โครงการที่ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูงภาคตะวันออก เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง จะปรับเส้นทางผ่านสนามบินอู่ตะเภาด้วยเพื่อให้เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้รางเดิมที่ใช้วิ่งแอร์พอร์ตลิงก์ เริ่มที่มักกะสัน โดยใช้ความเร็ว 250 กม./ชม.ซึ่งกรุงเทพ-สนามบินอู่ตะเภา ใช้เวลาเดินทาง 40-45 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนขยายสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ รวมทั้งการพัฒนาเมืองใหม่ ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ EEC ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และต้องการให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย
ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประเมินว่า ในช่วง 5 ปี อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นไร่ จากวันนี้ที่มีอยู่แล้ว 1.5 หมื่นไร่ และเป็นพื้นที่ของสวนอุตสาหกรรมและเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมกันประมาณ 1 หมื่นไร่