ส.อ.ท. จัดประชุมใหญ่ประกาศเดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง ขับเคลื่อน Industry 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 20, 2017 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศเดินหน้าชู 6 ยุทธศาสตร์ สร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง พร้อมนำทัพขับเคลื่อน Industry 4.0 โดยจากการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ ในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมเป็นมิตร ช่วยเศรษฐกิจ ช่วยชาติ” ประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์เชิงรุกจำนวน 6 ข้อ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2559– 2561 ที่ตั้งไว้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ด้วยประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และนวัตกรรม

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 โดย ส.อ.ท. เป็นศูนย์กลางการประสานงานขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเตรียมพร้อม การปรับตัวของสถานประกอบการ
  • การดำเนินงานด้านเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ส.อ.ท.มุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือและเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากหน่วยงานวิจัยภาครัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย รวมถึงกลไกการสนับสนุนด้านทุนวิจัย การจับคู่นักวิจัย และการใช้ระบบการค้าแบบดิจิทัล
  • เพิ่มศักยภาพให้ SME โดย ส.อ.ท. ได้เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืนของ SME ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดระยะเวลาปี 2559 ที่ผ่านมา ดังนี้ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ชุดส่งเสริม SME Startup และSocial Enterprise, ส่งเสริมด้านการขยายตลาดต่างประเทศผ่านโครงการ SME Proactive 950 ราย, ส่งเสริมช่องทางการตลาดในประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจผ่าน โครงการ SME Market Place ไทยช่วยไทย by ประชารัฐ, สร้างความเข้มแข็งเครือข่าย SME ที่มีศักยภาพ ผ่านโครงการ SME Spring Up รุ่นที่ 3 จำนวน 110 ราย, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนให้กับ SME ผ่านโครงการปรับแผนธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถ SME และ Workshop พารวยด้วยโลจิสติกส์ 1,767 ราย, ส่งเสริม SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการ MOU ร่วมระหว่าง SME Development Bank } วงเงิน 15,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 16,000 ล้านบาท และสินเชื่อประชารัฐเพื่อ SME 10,000 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และน้ำ โดย ส.อ.ท. ได้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมไปถึงการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตลอดจนการส่งเสริมในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ สร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี 103 โรงงาน การทำงานเชิงรุกจาก War Room 4 ภาค และอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง,

การขับเคลื่อนด้านพลังงาน ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้กับสมาชิก ส.อ.ท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและจูงใจให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2559 ผลที่ได้จากการดำเนินโครงการที่แล้วเสร็จ สามารถประหยัดพลังงานคิดเป็นมูลค่าประมาณ 262 ล้านบาท,

อุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท. เปิดตัวสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร และจัดตั้งสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกอุตสาหกรรมประเภทไม้ และอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีมาตรฐาน เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเกษตรเป็นพื้นฐาน

กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ส.อ.ท.ยังคงตระหนักถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชน และสังคม ได้แก่ โครงการห้องสมุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553-2559 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โครงการส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์แก่ชุมชนต่างๆทั่วประเทศ และโครงการ 50 ปี ส.อ.ท. มอบจักรยาน 7,000 คัน ปันรัก..สู่โรงเรียนขาดแคลน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมไทย ด้วยการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์

  • การส่งเสริมอุตสาหกรรม มี 6 กรอบแผนการดำเนินงาน ดังนี้ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยง Value Chain ของกลุ่มต่างๆ ภายใน Cluster และระหว่าง Cluster, ผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์, ส่งเสริมและสนับสนุน SME ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยระบบ Automation, ถ่ายทอดองค์ความรู้จาก Cluster และกลุ่มอุตสาหกรรมไปสู่ภูมิภาค, สนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเข้าสู่ Eco Industry Town, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร สินค้า และวัตถุดิบทดแทนการนำเข้า
การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมจังหวัด การดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ตลอดจนการร่วมมือระหว่างพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ด้วยการให้ความรู้ในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการประชุมระดับนโยบาย จนถึงระดับปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมไทยใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้า ได้มีการร่วมมือกับต่างประเทศในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เจรจาธุรกิจ สร้างเครือข่ายเพื่อขยายโอกาสและช่องทางการค้าอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรและแรงงาน ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ และการทดสอบฝีมือแรงงาน การสัมมนา และฝึกอบรมในสาขาต่างๆ อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทักษะการเป็นผู้จัดการโรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ตลอดจนการพัฒนาในระดับนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ และผู้บริหาร เพื่อปฏิรูปธุรกิจและสร้างเครือข่ายนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ร่วมกับภาครัฐในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรม

  • Ease of Doing Business โดยร่วมประชุมกับภาครัฐ เพื่อผลักดันให้มีความสะดวกการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตามรายงาน Doing Business 2017 ของธนาคารโลก เพื่อขับเคลื่อน และสนับสนุนปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการภาคเอกชน
  • ประชุม กกร. กรอ. โดยร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอจากภาคอุตสาหกรรม ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันหรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระดับประเทศต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เช่น โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (BIO HUB) เพื่อการเกษตรยั่งยืน
  • ด้านกฎหมาย ส.อ.ท.ได้ผลักดันข้อเสนอการขอแก้ไขกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมหลายด้าน ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร และสรรพสามิตให้เป็นธรรม เป็นต้น รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ให้บริการสมาชิกในการออกเอกสารใบรับรองต่างๆ กว่า 20,000 ฉบับ ทั้งใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รับรองฐานะการเงิน พิจารณาสูตรการผลิต BOI การประสานงานออกบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค อีกทั้งมุ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม และดึงงานวิจัยที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ อาทิ โครงการ Talent Mobility เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ SMEs ไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงเป็นหนึ่งในองค์กรหลักแสดงเจตนารมณ์และจุดยืนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมทั้งจัดอบรม สัมมนา เยี่ยมชมดูงาน ให้แก่สมาชิกตลอดปี รวมทั้งจัดทำวารสารเชิงวิชาการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกทั่วประเทศ

“อีกทั้งเพิ่มจำนวนและพัฒนาการให้บริการสมาชิก จากผลการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็ง ทำให้จำนวนสมาชิกของส.อ.ท. ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 10,300 ราย และดำเนินการตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น และการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป” นายเจนฯ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ