นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการกินรวบโครงการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยาย อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเพียงรายเดียวและขอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดคณะกรรมการและผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกชุด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานกรรมการ รฟม.ได้มีการดำเนินการในลักษณะเข้าข่ายที่จะเอื้อเอกชนรายเดียวในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และส่วนต่อขยายหรือ เป็นการกินรวบทั้งโครงการทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการดำเนินการให้เอกชนเดินรถ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวทั้งหมด
"ทั้งๆ ที่ทราบดีอยู่แล้ว่าการเจรจากับเอกชนรายเดียวทำให้เอกชนมีอำนาจต่อรองสูง แตกต่างจากการประมูลราคาที่ต้องมีเอกชนหลายรายเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคากัน ซึ่งโดยปกติการประกวดราคาจะได้ราคาที่ถูกกว่าการเจรจากับเอกชนรายเดียวประมาณ 15-20% ทำให้รัฐใช้งบประมาณได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่าการเจรจากับเอกชนรายเดียว
เหตุที่ คสช.ต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาจัดการเรื่องดังกล่าว เพราะปัญหาเกิดจากการบริหารงานภายใน รฟม.ภายใต้การกำกับดูแลของประธานบอร์ด ที่ชื่อ พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ อีกทั้งทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เคยมีหนังสือแจ้งต่อ ผู้ว่า รฟม.แล้ว แต่ผู้ว่า รฟม.ไม่เคยสนใจในข้อสังเกตดังกล่าวเลย"สมาคมฯ ระบุ
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ คือ ในระหว่างก่อสร้างเมื่อเดือน ก.พ.58 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เนื่องจากตรวจพบว่ามีผู้บริหารของรฟม.ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ ซึ่งมี บมจ.ช.การช่าง (CK) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างส่งผลให้ รฟม.เกิดความเสียหายจากการที่ต้องเพิ่มมูลค่างานวงเงินถึง 290 ล้านบาท และต้องมีการขยายระยะเวลาในการก่อสร้างให้ผู้รับเหมาอีก 90 วัน
และเมื่อวันที่ 17 ก.ค.59 และวันที่ 28 ธ.ค.59 คสช.ใช้มาตรา 44 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อและโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพ-บางซื่อและช่วงบางซื่อ-บางแค และเรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(สายเฉลิมรัชมงคล)ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
โดยสรุปว่าให้ รฟม.ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้าและบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงเตาปูน-บางซื่ออันเป็นระยะทางสั้นประมาณหนึ่งกิโลเมตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีน้ำเงินและสีม่วงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การจ้างดังกล่าวไม่ถือเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐการกำหนดค่าจ้าง โดยเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพียงรายเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดเจนว่า BEM มีความต้องการที่จะที่จะผูกขาดสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยายทั้งหมด
สมาคมฯ ระบุอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้มีปัญหาตั้งแต่การแก้ไขข้อสัญญาในการก่อสร้างที่ สตง.ต้องเข้ามาตรวจสอบการคัดเลือกให้เอกชนดำเนินการเดินรถ ซึ่งเดิมเคยมีมติให้ดำเนินการคัดเลือกโดยวิธีประมูลแต่ต่อมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ประกอบการายเดียว และต่อมาจะรวมสัญญาเป็นสัญญาเดียวกันทั้งหมด บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างสัญญาที่ 2 และบริษัทผู้รับจ้างเดินรถเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันทั้งหมด
นอกจากนั้น กรรมการบางคนในคณะกรรมการคัดเลือกฯและคณะกรรมการกำกับฯก็ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างอีกด้วย รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกฯและคณะกรรมการกำกับฯหลายคนต้องลาออกไป เพราะไม่ยอมให้มีการเอื้อเอกชนรายเดียวซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากปัญหาการทำงานของประธานและบอร์ดรฟม.หรือไม่
"หากจะมีการนำเรื่องการรวมสัญญาในเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและส่วนต่อขยายโดยไม่ใช้วิธีประมูลและใช้วิธีเจรจาตรง ซึ่ง BEM จะขอแบ่งผลประโยชน์ให้กับ รฟม.โดยวิธีการแบ่งจากผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนเมื่อค่า Equity Internal Rate of Return (Equity IRR) และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 มี.ค.60 นี้ แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์สูงสุดของประชาชน ให้รฟม.แอบเจรจากับเอกชนรายเดียวและกระทำการโดยไม่เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบเลย จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอื้อเอกชนรายเดียวอย่างชัดเจน ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำความเข้าร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และ สตง. ต่อไป"นายศรีสุวรรณ กล่าว