นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ผู้บริหารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เปิดเผยว่า ศูนย์ราชการฯ มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าหนึ่งล้านตารางเมตร (1,039,250 ตร.ม.) และมีจำนวนหน่วยงานราชการใช้ประโยชน์กว่า 40 หน่วยงาน จึงทำให้มีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสูงตามไปด้วย ทั้งนี้ มีนโยบายใช้นวัตกรรมในการประหยัดพลังงานภายในศูนย์ราชการฯ ทำให้เป็นที่มาของการขอรับการสนับสนุนโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อช่วยลดพลังงานสิ้นเปลืองและประหยัดไฟฟ้าจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสู่การเป็นหน่วยงานประหยัดพลังงานที่ยั่งยืนต่อไป
โดยโครงการดังกล่าวเป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์หลังคา (Solar Rooftop) และเปลี่ยนหลอดไฟแอล อี ดี ซึ่ง ธพส. มีความเชื่อมั่นให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะหน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญ และมีมาตรฐานในงานดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งการร่วมกันดำเนินโครงการในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ ซึ่งอาจมีการขยายผลต่อเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในโอกาสต่อไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ด้านนายรุจ เหราบัตย์ รองผู้ว่าการ กฟน. ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากลมีความยินเป็นอย่างยิ่งที่ ธพส. มอบความไว้วางใจให้ กฟน. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และเปลี่ยนหลอดไฟแอล อี ดี ณ ศูนย์ราชการฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ ในฐานะศูนย์รวมหน่วยงานราชการมากกว่า 40 หน่วยงาน
สำหรับการติดตั้ง ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาในครั้งนี้ มีกำลังผลิตการผลิตไฟฟ้า 2,212 กิโลวัตต์ ดังนั้น ศูนย์ราชการฯ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐแห่งแรกที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ กฟน. ยังได้มีการเปลี่ยนหลอดไฟถนนและหลอดไฟภายในอาคารศูนย์ราชการฯ ให้เป็นหลอดไฟแอล อี ดี จำนวน 38,017 หลอด ดังนั้น โดยภาพรวมทั้งโครงการ สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับการปลูกป่าถึงประมาณ 10 ไร่ ทั้งนี้ กฟน. มีความพร้อมในการให้คำแนะนำปรึกษา และบริการออกแบบติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อให้การใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม