ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจของไทยในระยะหลัง กลายเป็นโจทย์หลักทางเศรษฐกิจที่ต้องหาทางแก้ไข การพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อให้เข้ามาเปลี่ยนโฉมภาคการผลิตของประเทศให้ทันสมัย โดยโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ได้กลายมาเป็นความหวังของรัฐบาลในการเติมเต็มภาพรวมการส่งเสริมการลงทุน อันจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว
"เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในช่วงปี 2552-2559 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2544-2551 ที่มีค่าเฉลี่ยลดลงเป็น 3.1% จาก 4.9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัว อีกทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่อ GDP ก็มีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ"
โดยรากฐานของปัญหา ส่วนหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างของภาคการผลิตของประเทศที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับปานกลางหรือใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มที่ไม่สูงนัก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและปัจจัยแวดล้อมทำให้อุปสงค์ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สินค้าที่ไทยผลิตเริ่มล้าสมัย และอาจไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของความต้องการในตลาดโลก ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศโดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรักษาอัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายเปลี่ยนโฉมภาคการผลิตของประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีในระดับสูง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจนวัตกรรมใหม่ซึ่งมีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในระดับที่สูง รัฐบาลจึงต้องเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นการดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต้นทุนด้านภาษีที่ลดลง และเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (Feasibility) ให้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้มีการปรับปรุงบริบทของการส่งเสริมการลงทุนให้อยู่ในรูปแบบ (Platform) ใหม่ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างชัดเจน ผ่านกลไกหลักคือกฎหมายสองฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 ซึ่ง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
โดยโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป้าหมาย (Core technologies) มีโอกาสที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปีภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ และโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีในไทยเลยมีโอกาสเพิ่มเป็น 15 ปีได้ภายใต้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ รวมถึงได้รับเงินทุนสนับสนุนในการทำวิจัยและพัฒนาอีกด้วย ทั้งนี้ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในกระบวนการส่งเสริมการลงทุนของไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่การให้สิทธิประโยชน์ของ BOI มีความยืดหยุ่นและเฉพาะเจาะจง (Tailor-made) กล่าวคือ นักลงทุนสามารถเสนอโครงการลงทุนเพื่อให้คณะกรรมการที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.แต่ละฉบับในการพิจารณาเห็นชอบและกำหนดขอบเขตของสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเป็นรายโครงการไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่มีความยืดหยุ่นขึ้นนี้น่าจะเป็นผลดีต่อนักลงทุนในการได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือของทางการในการดึงดูดการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว โครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการและยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างการขนส่งในโหมดต่างๆ จึงได้เกิดการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้เป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ EEC มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ด้วยทำเลที่ตั้งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รวมไปถึงระบบโครงข่ายโลจิสติกส์และการขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางเรือ ทางบก ทางราง และทางอากาศได้ และที่สำคัญคือการที่ EEC มีฐานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูงในพื้นที่อยู่แล้ว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ทำให้สามารถต่อยอดการลงทุนและรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ได้ง่าย ดังนั้น การลงทุนเพื่อเปลี่ยนโฉมโครงสร้างการผลิตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นใน EEC จึงน่าจะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านน้อยกว่าการลงทุนในพื้นที่อื่น
"รัฐบาลคาดหวังว่าภายในปี 2564 จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยพัฒนาขึ้น และยกระดับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้ขึ้นไปถึงระดับร้อยละ 5.0 ได้ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2574 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาล" บทวิเคราะห์ ระบุ
โดยเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในช่วงแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเกิดการลงทุนใน EEC ในระยะ 5 ปีแรก (2560-2564) ตามที่รัฐบาลคาดหวัง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตอยู่แล้วในประเทศหรือมีศักยภาพในการพัฒนาสูง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตได้ง่ายกว่า เพราะแรงงานมีความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานในการผลิตและมีอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting industries) ในพื้นที่อยู่แล้ว หรือโครงการลงทุนอาจใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการลงทุนใหม่ที่ไม่เคยมีฐานการผลิตในพื้นที่มาก่อน โดย 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเกิดการลงทุนใน EEC ในระยะแรก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 2.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ 3.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และ 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายประการ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยว ค่าครองชีพที่ค่อนข้างต่ำ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่คุ้มค่า สภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน และการมีพื้นที่ศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยที่ปรับปรุงใหม่ก็จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบของไทยด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยก็น่าจะเพิ่มความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลือใน EEC ในระยะถัดไป ได้แก่ ต้องมีแรงงานมีทักษะภายในประเทศที่เพียงพอ, นโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่อง, สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของโลก ซึ่งต้องเอื้อต่อการลงทุน