ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือนก.พ. 2560 ติดลบ 2.8% YoY แต่หากไม่รวมสินค้าที่มูลค่าส่งออกมีความผันผวนสูงในปีก่อน (มีผลของฐาน) เช่น ทองคำและสินค้าหมวดอากาศยาน (อาวุธและยุทธปัจจัย) มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยขยายตัว 8.5% YoY นอกจากนี้ การขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
แม้ภาพรวมมูลค่าส่งออกสินค้าจะหดตัว แต่ส่งออกไปจีนขยายตัวสูงโดยการส่งออกสินค้าไปยังหลายตลาดสำคัญมีการขยายตัวบนเลขสองหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘จีน’ ที่มียอดการส่งออกสินค้าจากไทยอยู่ที่ 2,279 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 31.1% YoY ในเดือนก.พ. 2560
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนอาจจะสูงกว่าตัวเลขที่กล่าวมาในเบื้องต้นด้วยส่วนหนึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนถูกแฝงไปในรูปแบบมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังเวียดนามผ่านช่องทาง ‘การค้าผ่านแดน’เพื่อส่งออกต่อไปยังจีนอีกหนึ่งทอด (Re-export) เนื่องด้วยเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษในการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) จากจีนหากส่งออกสินค้าผ่านพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากที่จัดเก็บในอัตรา 13% จึงทำให้การส่งออกสินค้าในหมวด ‘ผลไม้สด แช่เย็น แช็แข็ง และแห้ง’จากไทยไปเวียดนามขยายตัวสูงติดต่อกันนานหลายเดือนเพื่อรองรับความต้องการบริโภคผลไม้ของชาวจีน
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกในหมวดอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้าก็มีทิศทางการขยายตัวที่ต่อเนื่อง โดยสินค้าในหมวดอาหาร ทั้งในส่วนของสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้งที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าไก่แช่เย็น-แช่แข็ง- แปรรูปที่ยังขยายตัวได้ดีซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่จากไทยของเกาหลีใต้ อีกทั้งได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ก็มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีฐานการผลิตรถยนต์
ทั้งนี้ หากทิศทางการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ ก็น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้เบื้องต้นที่ร้อยละ 0.8 YoY