การซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว เป็นการต่อเชื่อมแท่นผลิตใหม่เข้ากับแท่นผลิตเดิมตามแผนงานประจำปี เพื่อรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาให้เป็นไปตามสัญญา แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านคุณภาพก๊าซฯ ของแต่ละแหล่งผลิต ปตท. จึงจำเป็นต้องหยุดรับก๊าซฯ จากสหภาพเมียนมาทุกแหล่ง ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยปตท.ได้ประสานงานจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าไว้ล่วงหน้าเพื่อทดแทน และเตรียมพร้อมสำหรับการขนส่งน้ำมันตลอดช่วงการทำงานของผู้ผลิตก๊าซฯ นอกจากนี้ ปตท.ได้สำรองก๊าซฯ ในระบบและก๊าซฯ จากฝั่งตะวันออก เพื่อรองรับการใช้ก๊าซฯ ของลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และสถานีบริการเอ็นจีวีอีกด้วย “การซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ในครั้งนี้ เป็นการซ่อมบำรุงตามแผนงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดย ปตท. ได้วางแผนล่วงหน้าร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และภาครัฐ เพื่อบริหารจัดการและเตรียมการร่วมกันให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โอกาสนี้ ปตท.ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการใช้พลังงานอย่างประหยัด นอกจากจะลดภาระของครัวเรือนแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคตอีกด้วย"นายนพดล กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบันก๊าซฯนับเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยการใช้ก๊าซฯจากเมียนมา คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ ซึ่งปริมาณก๊าซฯจากเมียนมาที่หายไปจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าราว 6 พันเมกะวัตต์ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนได้บางส่วน รวมถึงการเรียกร้องให้ช่วยกันประหยัดพลังงานในช่วงดังกล่าวด้วย