ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งปี 60 จะมีมูลค่า 5.6 พันลบ.เพิ่มขึ้น 24.4% รับอานิสงส์ E-Commerce รุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 27, 2017 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดตลาดสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับ E-Commerce ในส่วนของสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง (Business to Consumer: B2C) B2C ในปี 2560 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.4% (YoY) ภายใต้กระแสการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่กำลังเติบโตสูง เนื่องจากตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการซื้อสินค้าที่สะดวก ทั้งทางด้านการสั่งซื้อ การชำระเงิน และการรับมอบสินค้า รวมถึงได้สินค้าในราคาต่ำกว่าการซื้อผ่านคนกลางหรือร้านค้าทั่วไป

ประกอบกับการเข้ามาของผู้ประกอบการ E-Commerce รายใหญ่ทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ ที่เข้ามาให้บริการธุรกิจซื้อขายออนไลน์ประเภท E-Marketplace ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ ทั้งทางด้านผู้ซื้อและการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าสนใจเข้ามาซื้อขายในตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เนื่องจากเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบของช่องทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว การลดต้นทุนดำเนินการ ทั้งต้นทุนหน้าร้าน ต้นทุนค่าจ้างแรงงานพนักงานขาย รวมถึงสามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง จนทำให้จำนวนผู้ประกอบการและปริมาณสินค้าที่นำมาขายในระบบออนไลน์ มีความหลากหลายทั้งทางด้านประเภทสินค้า รวมถึงความหลากหลายของผู้ผลิตในสินค้าประเภทเดียวกัน ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบคุณลักษณะและราคาสินค้าเพื่อตัดสินใจซื้อได้

จากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce โดยเฉพาะตลาดจำหน่าย B2C เฉพาะภาคค้าปลีกสินค้าที่เติบโต 15-20% ต่อปี หรือมีมูลค่าประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ช่วยให้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง B2C จากเดิมที่มีการใช้น้อยมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่า ในส่วนปี 2563 จะมีมูลค่าประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท

"จากปัจจัยดังกล่าวเป็นโอกาสของผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ที่จะสามารถขยายบทบาทการผลิตบรรจุภัณฑ์จากเดิมเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีกและส่ง จากผู้ผลิตไปถึงร้านค้าคนกลาง (Business to Business : B2B) ซึ่งมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ติดไปกับสินค้าทั้งชั้นแรกหรือขั้นปฐมภูมิ (Primary Packaging) และบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกหรือทุติยภูมิ (Secondary Packaging) ไปสู่บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง จากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง (Business to Consumer : B2C) หรือบรรจุภัณฑ์ตติยภูมิ (Tertiary Packaging) เช่น กล่องกระดาษแข็ง กล่องพัสดุไปรษณีย์ รวมถึงถุงพลาสติก ที่กำลังเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเพื่อตอบสนองผู้ประกอบการ E-Commerce รายกลางและรายเล็กหรือ SMEs ที่มีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าพื้นเมืองในท้องถิ่น อาทิ OTOP ซึ่งหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระจายสินค้ามากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

หากพิจารณาถึงมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่รองรับความต้องการในตลาด E-Commerce สามารถประเมินได้จากธุรกรรมที่เกิดขึ้นจากการค้าขายระหว่าง B2C และเจาะจงไปที่ภาคการค้าปลีกสินค้าไม่รวมบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นพบว่ามีมูลค่าประมาณ 2.1 แสนล้านบาทในปี 2560 โดยสินค้าที่นิยมซื้อขายมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ (เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ) รวมถึงสินค้า IT ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีความต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งแบบหน่วยย่อยค่อนข้างมาก หรือคิดเป็นปริมาณ 350-400 ล้านหน่วย รวมมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับ E-Commerce ประมาณ 5,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งจะมีมูลค่าถึงประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce ในรูปแบบ B2C (ภาคการค้าปลีก) ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านบาท (ภายใต้สมมติฐาน นโยบายการจัดเก็บภาษีธุรกิจ E-Commerce ที่จะนำมาใช้ในระยะข้างหน้า ส่งผลต่อภาระผู้ประกอบการไม่มาก) โดยคาดว่า บรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติก จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวสูง เนื่องจากสอดคล้องกับลักษณะของสินค้าที่นิยมซื้อขายออนไลน์ รวมถึงความเหมาะสมในการปกป้องสินค้าระหว่างขนส่ง และมีต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก

โดยในระยะข้างหน้า คาดว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อนการเติบโตจากธุรกิจ E-Commerce โดยเฉพาะผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษและพลาสติกที่น่าจะได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมาก เนื่องจากคุณสมบัติสอดคล้องและเหมาะสมกับสินค้าที่นิยมซื้อขายผ่านออนไลน์ ทั้งสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง อาหาร รวมถึงอุปกรณ์สื่อสาร

ขณะที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้า E-Commerce เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในระยะต่อไป ซึ่งนอกจากเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ยังต้องมีความสวยงาม ดึงดูดและสร้างความประทับใจให้กับผู้ซื้อ ประการสำคัญ ต้องสามารถรับคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ในปริมาณไม่สูงของผู้ประกอบการ E-Commerce ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้ด้วย ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1.บรรจุภัณฑ์แบบสำเร็จรูป ที่ผลิตออกมาในรูปแบบลักษณะขนาดต่างๆ ที่เป็นแบบมาตรฐาน ไม่มีลวดลายหรือตราเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการ มีราคาต่อหน่วยไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้ส่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังมีปริมาณการจำหน่ายสินค้าไม่สูงมากนัก และ 2.บรรจุภัณฑ์แบบสั่งตัด ผลิตตามคำสั่งของผู้ใช้ ซึ่งอาจกำหนดรูปแบบตามลักษณะสินค้า ซึ่งนอกจากจะทำให้สินค้ามีความโดดเด่น และช่วยเสริมเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่อยู่ภายใน อาทิ สินค้าประเภทเครื่องสำอาง เครื่องประดับ และยังช่วยให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียแตกหัก ประการสำคัญ ยังสามารถทำหน้าที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่พบเห็นบรรจุภัณฑ์ได้ด้วย แต่บรรจุภัณฑ์ลักษณะนี้ จะมีต้นทุนสูงกว่าบรรจุภัณฑ์แบบสำเร็จรูป

จากโครงสร้างธุรกิจ E-Commerce พบว่าส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากผู้ประกอบการ SMEs ที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เช่น สินค้า OTOP ที่เริ่มใช้ช่องทางออนไลน์จำหน่ายสินค้านอกเหนือจากช่องทางหน้าร้าน ดังนั้นตลาดนี้จึงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ เพราะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของตลาดทั้งหมดหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการ E-Commerce รายใหญ่ มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของตลาดทั้งหมดหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดมีจำนวนมากทั้งรายใหญ่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สามารถประหยัดต่อขนาด โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป รวมทั้งมีนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบที่ทันสมัย แต่อาจติดขัดปัญหาทางด้านการรับคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์แบบสั่งตัดต่อครั้งต่อรายของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากไม่คุ้มต่อการผลิต ซึ่งหากสามารถพัฒนาให้สามารถรับคำสั่งซื้อในปริมาณน้อยได้ น่าจะขยายโอกาสเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ SMEs แม้ว่าจะเสียเปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ทำให้เป็นอุปสรรคทางด้านการแข่งขันบรรจุภัณฑ์แบบสำเร็จรูป แต่มีศักยภาพในการติดต่อรับงานจากผู้ประกอบการ SMEs แบบสั่งตัดในปริมาณน้อยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ SMEs อาจจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับตลาดบรรจุภัณฑ์แบบสั่งตัด ที่คาดว่าจะทวีบทบาทภายใต้การแข่งขันในตลาด E-Commerce ที่เพิ่มขึ้น

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งจะยังคงเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ตามการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่ยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต และสัดส่วนยังไม่สูงมากนักหรือประมาณเพียงร้อยละ 5 หากเทียบกับช่องทางการค้าตามปกติ (ประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท) ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ E-Commerce รายใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ประกอบการ E-Commerce จะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านรายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความปลอดภัยและแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์เพื่อการปกป้องสินค้าที่ต้องมีแล้ว ความสวยงาม ความแตกต่างที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ E-Commerce ที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่มีมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องคำนึงถึงหากต้องการมีส่วนร่วมในตลาดนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ