พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม เพื่อพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะการพัฒนาการเกษตรและอาหาร การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการน้ำ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน การตรวจเยี่ยมติดตามและผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมีแหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีภูมิทัศน์ริมฝั่งโขงที่สวยงาม ประชากรมีความหลากหลายในชาติพันธุ์ มีประเพณีวัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ในอำเภอเรณูนครแห่งนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าผู้ไท จึงขอชื่นชมประชาชนที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้เป็นอย่างดี
ด้วยศักยภาพดังกล่าวทำให้มองเห็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติ ประเพณีศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ตลอดจนวัฒนธรรมของสองฝั่งแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาการท่องเที่ยว 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อให้จังหวัดนครพนมแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง อันเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ประเทศเพื่อนบ้านและชาวต่างชาติ ให้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดนครพนม และสร้างรายได้สู่ชุมชนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ได้แก่ พระธาตุพนม และพระธาตุบริวาร พระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน ซึ่งกระจายกันอยู่ในหลายอำเภอ
นอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่สำคัญที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ทั้งการจัดงานนมัสการพระธาตุพนม เป็นจุดร่วมเชื่อมความศรัทธาของประชาชนในแถบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง งานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ที่ได้ร่วมกันจัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นแบบอย่างอันดีในการส่งเสริมประเพณีเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางสังคม พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนนำศักยภาพที่จังหวัดนครพนมมีอยู่มาพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชาชนเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
ขณะเดียวกันขอให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ปริมาณน้ำ ตลอดจนการทำเกษตรแปลงใหญ่ด้านต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูกพืช ปศุสัตว์ การทำประมง ฯลฯ รวมทั้งการพิจารณาในการปลูกพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การปลูกมันญี่ปุ่น เป็นต้น
อีกทั้ง จังหวัดนครพนมยังสามารถใช้ศักยภาพความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะ การเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในการขนส่งสินค้าและบริการระหว่างประเทศไปสู่ประเทศลาว เวียดนาม และจีน โดยมีระยะทางสั้นที่สุดเมื่อเทียบกับด่านอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผ่านเส้นทางสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เส้นทาง R12 ของลาว เส้นทาง National Highway R1A และโฮจิมินห์ Road ของเวียดนาม และมีระยะทางจากนครพนม – หนานหนิงของประเทศจีน ประมาณ 1,029 กิโลเมตร
หลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เป็นผลให้มูลค่าด้านการค้าชายแดน ด้านการท่องเที่ยวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สะพานแห่งนี้จึงถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ของภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการท่องเที่ยวของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม โดยขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเป้าหมาย และเงื่อนไขของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 10 ประเภทกิจการ และเพิ่มเติมกิจการเป้าหมายอีก 13 กลุ่มกิจการ การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนและด้านแรงงาน (OSS) เปิดให้บริการแล้ว โดย OSS ด้านการลงทุน จัดตั้ง ณ อาคารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 อันจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
สำหรับแผนงานโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรนครพนมแห่งใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.61 การก่อสร้างถนนจากท่าอากาศยานนครพนม – สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) การก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศไทย – ลาว – เวียดนาม - จีน การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 (นครพนม-ท่าอุเทน) และการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ชีวิตของประชาชนมีคุณภาพมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และการสร้างโอกาสเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีกลไกการบูรณาการประชารัฐทั้งในระดับอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน อปท. ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งในส่วนกลางโดยรัฐบาลมีหน้าที่คิดกำหนดนโยบาย และภาคท้องถิ่นต้องดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
ขณะเดียวกันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทุกคนต้องรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นและมีหลักคิดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ทุกคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างได้แต่ต้องไม่มีการบาดเจ็บและสูญเสีย รวมทั้งไม่มีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันจะส่งผลต่อสังคมและความเชื่อมั่นของต่างประเทศ และเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข รวมทั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะทำให้ประชาชนความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยจะทำควบคู่กันไปทั้งการแก้ปัญหาพื้นฐานที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และการทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่เป็นกรอบกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน เป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ และมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง