น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 28 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 580 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 715 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
"ในเดือน มี.ค.60 มีจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2 ราย คิดเป็น 8% ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 57% แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง จำนวน 4 ราย คิดเป็นอัตรา 12% ขณะที่มีเงินลงทุนลดลง 256 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 30% เนื่องจากในเดือน มี.ค.60 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการออกแบบ จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง"
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 9 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 278 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางบัญชี บริการให้กู้ยืมเงิน บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและโรงงานบางส่วนพร้อมสาธารณูปโภค บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการภายในองค์กร บริการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้า บริการทำการตลาดและส่งเสริมการขาย และบริการรับค้ำประกันหนี้โดยการจำนำหุ้น โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 242 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับจ้างผลิตอุปกรณ์จับยึดชิ้นส่วนรถยนต์ (JIG) บริการจัดหาผู้ประกอบการด้านโรงแรมและสายการบินให้เข้าใช้พื้นที่และระบบงานเพื่อทำรายการจองห้องพักและตั๋วเครื่องบินบนเว็บไซต์ บริการบริหารจัดการเกี่ยวกับการซ่อมแซมและบำรุงรักษานาฬิกา บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการผลิต บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้เก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าสถาบันการเงิน บริการให้ใช้ช่วงสิทธิรับชมเนื้อหารายการโทรทัศน์บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์ บริการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการบริหารงานภายในองค์กร และบริการออกแบบและเทพื้นคอนกรีตด้วยเทคโนโลยีการกรอพื้นด้วยเลเซอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน
3.ธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 15 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ รวมถึงการหาแหล่งจัดซื้อสินค้าในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์
4.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐ จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 26 ล้านบาท ได้แก่ บริการสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยาด้วยวิธีวัดคลื่นไหวสะเทือนขนาดเล็ก บริการบริหารจัดการ จัดซื้อจัดหา ออกแบบติดตั้งและทดสอบการเปลี่ยนโซ่ผูกเรือซึ่งตั้งอยู่ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ และบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ระบบประมวลผลข้อมูลเรดาร์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอิตาลี
5.ธุรกิจค้าปลีก / ค้าส่ง จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 19 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกอุปกรณ์ อะไหล่ และชิ้นส่วนสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษลูกฟูก การค้าปลีกเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และการค้าส่งเคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมโดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน และสิงคโปร์
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการก่อสร้างพื้นคอนกรีตชนิดต่างๆ และการใช้เทคโนโลยีช่วยให้พื้นคอนกรีตมีคุณลักษณะและคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานสากล การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ประเภทสารไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับขั้นตอน มาตรฐานการผลิต การเพิ่มระดับความสามารถและทักษะในการติดตั้งอุปกรณ์จับยึดชิ้นส่วนรถยนต์ และวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับระบบการควบคุมระบบปฏิบัติการ และการอ่านแผนที่ของเรดาร์ทุติยภูมิ (SSR MODE S) และเส้นทางการบิน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของบุคลากรไทยในโครงการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชันที่ได้มาตรฐานระดับสากลจากแอปพลิเคชันที่ใช้งานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก