นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) กับประธานบริษัท Alibaba Group จำกัด เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ที่เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ไทย ตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึง SMEs ที่สามารถส่งออกได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทาง e-Commerce พร้อมพัฒนาบุคลากรของไทยก้าวสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล
สาระสำคัญของความร่วมมือครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญคือ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs และการพัฒนา National e-Commerce Platform (2) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (3) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศ และ (4) การเชิญชวนบริษัท Alibaba Group มาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) นั้น รัฐบาลไทยกับ Alibaba ก็ได้มีความร่วมมือที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมก้าวหน้าอย่างมากหลายด้าน ได้แก่
1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs และการพัฒนา National e-Commerce Platform กระทรวงพาณิชย์ได้มีการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการ Rural Taobao ที่ทาง Alibaba ประสบความสำเร็จในการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในชุมชนห่างไกลให้สามารถการทำธุรกิจการค้าทางออนไลน์ผ่าน platform ของ Alibaba และได้นำรูปแบบดังกล่าวมาเป็นโมเดลในการจัดตั้งสถาบัน New Economy Academy (NEA) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่เชื่อมต่อถึงกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท Lazada จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท Alibaba Group ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการให้การอบรมหลักสูตร ภายใต้ สถาบัน NEA ได้แก่หลักสูตร "SMEs 4.0 เจาะตลาดออนไลน์" ซึ่งได้รับการต้อนรับจากผู้ประกอบการ SMEs อย่างล้นหลาม
2. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างวิทยากร (Train the trainers) โดยบริษัท Lazada ได้ให้การอบรมวิทยากรไปแล้ว จำนวน 250 ราย ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา และกระทรวงดิจิทัลฯ จะกำหนดจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรโดยวิทยากรที่ผ่านการอบรมของบริษัท Lazada ณ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 600 ทั่วประเทศ
3. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศ โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดตั้งคณะทำงานผลักดันความร่วมมือพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ร่วมกับกลุ่มธุรกิจในเครือ Alibaba และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร เพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการบูรณาการมากขึ้น
4. การเชิญชวนบริษัท Alibaba Group มาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) กระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะทำงานของบริษัท Lazada จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท Alibaba Group จำกัด และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนในการหารือแนวทางพัฒนาโครงการ E-Commerce Park ในไทย เยี่ยมชม 3 นิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในโครงการ EEC ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (จ.ชลบุรี) เหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด (จ.ชลบุรี) และอมตะซิตี้ (จ.ระยอง) โดยโครงการ Lazada e-Commerce Park ของ Lazada Group นี้ ถือเป็นโครงการสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนในประเทศไทยในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งโครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นช่องทาง (Gateway) สู่ตลาดโลก และประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมถึงจะเป็นศูนย์รวมของระบบโครงสร้างด้านโลจิสติกส์และเทคโนโลยีขั้นสูง และ Ecosystem ครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และพันธมิตรทางโลจิสติกส์
นอกจากความร่วมมือกับบริษัท Alibaba Group ที่มีมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เองได้มีการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ e-Commerce มาโดยตลอด โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกร SMEs และ e-Market Place โดยมีโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการช่วยชาวนาขายข้าวผ่านระบบออนไลน์ เพื่อขยายตลาดค้าข้าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนต่างประเทศได้มีการเชื่อมโยงกับเว็ปไซต์ Thaitrade.com เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังจะได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้กับ SMEs (กลุ่ม OTOP, กลุ่มออร์แกนิกส์, กลุ่ม Halal, กลุ่ม GI เป็นต้น) เพื่อยกระดับผู้ประกอบเหล่านี้ให้มีความรู้ความสามารถในการค้าขายผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของชุนชนอย่างยั่งยืนต่อไป