นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 1/60 จะเติบโต 1-2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/59 หลังการส่งออกในเดือน ก.พ. หดตัว 2.76% เป็นไปตามที่ สรท.คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกจะกลับมาติดลบ 3-4% เนื่องจากในเดือน ก.พ.59 มีการส่งออกทองคำและสินค้าหมวดอาวุธและอากาศยานมากกว่าปกติมาก
ขณะที่คาดว่าการส่งออกในเดือน มี.ค.จะเติบโตกว่าเดือน ก.พ.และใกล้เคียงกับเดือน มี.ค.59
และหากการค้าและเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตต่อไปด้วยปัจจัยสนับสนุนตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยไม่มีเหตุการณ์ปกติรุนแรงมากระทบ อาทิ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น การปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพของจีน ยุโรป และการปรับราคาขึ้นของน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ การส่งออกในไตรมาส 2-3-4 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 2-3%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีนี้การส่งออกจะมีโอกาสเติบโตสุงกว่าปีก่อน แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนและความผันผวนอันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอีกหลายประการ ดังนั้น สรท.จึงยังคาดการณ์การส่งออกไทยปีนี้จะยังคงเติบโต 2-3% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 35-36 บาท/เหรียญสหรัฐ
ประธาน สรท. กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ อย่างเช่นเรื่องการใช้พลังงานในประเทศที่มีผลให้ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันลง ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับมาผันผวนได้อีกเนื่องจากมีปริมาณการผลิตเกินความต้องการ โดยราคาปรับตัวต่ำกว่าเดิมที่คาดการณ์ราคาเฉลี่ยในปีนี้ไว้ที่ 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรให้ลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในส่วนของค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้นโดยเฉลี่ย 3.8% จากช่วงต้นปีก่อน ซึ่งนับว่าแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับ ฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงราว 2%
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องยังต้องผลักดันยุทธศาสตร์ทางการค้าในการเจรจากับประเทศคู่ค้ายังคงต้องเดินหน้าต่อไป, การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศซึ่งถือเป็นการส่งออกโดยตรง, การพัฒนามาตรฐานการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ เป็นต้น
ประธาน สรท. เชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงไม่เร่งรีบเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลให้เงินทุนจากต่างประทศไหลกลับเข้ามา ถ้าค่าเงินบาทไม่แข็งค่าลงไปต่ำกว่า 34 บาท/เหรียญสหรัฐน่าจะเป็นผลดีในระยะยาว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาให้ความสนใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอีกครั้ง ประกแบกับมีกระแสข่าวที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกในปีนี้หากจะให้ขยายตัวได้ถึง 5% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้นั้น สรท.คาดการณ์ยอดส่งออกในเดือนถัดๆ ไปควรเป็นดังนี้ เดือน มี.ค.อยู่ที่ 18,800 ล้านเหรียญสหรัฐ, เดือน เม.ย.อยู่ที่ 15,500 ล้านเหรียญสหรัฐ, เดือน พ.ค.อยู่ที่ 17,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 18,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกในเดือน มี.ค.60 คาดว่าจะขยายตัวที่ 0% ถึง -2% ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกช่วงไตรมาสแรกของไทย (ม.ค.-มี.ค.60) ขยายตัวที่ระดับ 1%
"ไตรมาสสองจะเป็นช่วงที่การส่งออกสามารถทำยอดให้สูงได้ หากไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็คงต้องมาดูใหม่ว่าจะปรับเป้าหมายส่งออกปีนี้หรือไม่" นายวัลลภ กล่าว
ด้านนายรติดนัย หุ่นสวัสดิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนั้นส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่การเข้าไปดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงตามมา
เงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัจจัยจากภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนมาก หลังจากล้มเหลวในการผ่านกฎหมายเรื่องสุขภาพ
"นโยบายของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอย่างมาก จนไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากล้มเหลวในการออกกฎหมายเรื่องสุขภาพ" นายรติดนัย กล่าว