พาณิชย์ เร่งกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเยอรมนี พร้อมเชิญชวนเข้าลงทุน EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 30, 2017 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อร่วมการหารือระดับรัฐมนตรีในหัวข้อ Free Trade in Asia-Pacific: Chance and Challenges ในการประชุม German-Asian Business Dialogue ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี สมาคมธุรกิจเอเชียแปซิฟิกของเยอรมนี มูลนิธิ Konrad Adenauer มูลนิธิ Bertelsmann เอกชนรายใหญ่จากเยอรมนีและเอเชียแปซิฟิก สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน สำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน สำนักงานผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นครแฟรงก์เฟิร์ต และสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของเยอรมนี, อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศมองโกเลีย, รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและเทคโนโลยี ประเทศฟิลิปปินส์ และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรม ประเทศบรูไน โดยได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ และการแสวงหาความร่วมมือระหว่างเยอรมนีและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องว่าโลกาภิวัฒน์ช่วยให้ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พร้อมทั้งเห็นว่าการค้าเสรี (Free Trade) ควรจะคำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่กัน เพื่อความสมดุลระหว่างมิติทางการค้าและสังคม

นอกจากนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เยอรมนีเป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายสำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และระหว่างนักธุรกิจเป็นไปด้วยดีและใกล้ชิดมาโดยตลอด และจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกสินค้า ที่ผ่านมา ไทยปรับตัวต่อความท้าทายของโลกาภิวัฒน์มาโดยตลอด และใช้ความตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จึงได้มีนโยบายประเทศไทย 4.0 ปรับรูปแบบการค้าไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) และการเพิ่มมูลค่า (Value-Based Economy) ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้สอดรับกับห่วงโซ่คุณค่าของโลก นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าบริการให้สามารถแข่งขันได้ตลาดโลกด้วย

สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีแบบภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ ASEAN อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด โดยมุ่งหวังให้ RCEP เป็นความตกลงที่ลดความซับซ้อนยุ่งเหยิงของกฎเกณฑ์ทางการค้า โดยเฉพาะกฎแห่งถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนเพิ่มการอำนวยความสะดวกและเปิดเสรีการค้ามากขึ้น

ในส่วนของแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีนั้น รมว.พาณิชย์ ย้ำว่า ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งสองประเทศควรร่วมกันขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยนำจุดแข็งและจุดแข็งมาส่งเสริม ซึ่งกันและกันในส่วนของเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เน้นการวิจัยและพัฒนา อาทิ นวัตกรรม ด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่จะพัฒนาส่วนไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ เป็นแหล่งวัตถุดิบ และแรงงาน

พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนเยอรมนี มาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ไทยมุ่งสร้างให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ทันสมัยของอาเซียน โดยไทยมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางถนน ทางราง ทางเรือ และ ทางอากาศแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและแผนการพัฒนาเมืองใหม่พร้อมทั้งมีมาตรการดึงดูดการลงทุนที่รัฐบาลพร้อมให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

นอกจากนี้ ระหว่างการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว รมว.พาณิชย์ มีโอกาสหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท BMW ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่และทันสมัยของโลก โดยได้เชิญชวนให้บริษัท BMW พิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของอาเซียน มาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบใน EEC ซึ่งฝ่าย BW แจ้งว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียส่งออกไปจีน และเห็นศักยภาพของไทยที่จะสามารถขยายการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของไทย โดยในปี 2559 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป มีมูลค่าการค้ากว่า 10,361.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเยอรมนีลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศ EU (รองจากลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ