นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงผลการที่สำคัญในการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนยางยางพาราทั้งระบบ ในไตรมาสที่ 2/60 (มี.ค.60) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กยท.ครั้งล่าสุดมีมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออก (เงินเซส)ในอัตราคงที่กิโลกรัมละ 2 บาท แบบระบบเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้นำระดับราคาให้มีเสถียรภาพในกรอบราคายางกิโลกรัมละ 70-80 บาท ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมเรื่องราคายางให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยางพาราจะได้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงและมีความมั่นใจต่อการเสนอราคาซื้อขาย โดยเฉพาะการซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งสามารถวิเคราะห์คำนวณการชำระค่าธรรมเนียมได้ทันที ลดความยุ่งยากในการยื่นเอกสารการส่งออก การขอคืนเงินหรือเพิ่มเงินด้วย ลดปัญหาการเก็งกำไร และการกดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรด้วย ส่วน กยท.เองก็จะมีความชัดเจนด้านงบประมาณที่จะใช้ในการช่วยสนับสนุน ส่งเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะนี้ กยท.ได้มีการเตรียมปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมให้เกิดประสิทธิภาพร่วมกับกรมศุลกากร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกยางพาราออกนอกราชอาณาจักรยังมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลการส่งออกยางพารา ปัญหาในการนำใบชั่งน้ำหนักที่มีน้ำหนักลดลง มาขอคืนเงินค่าธรรมเนียม มีการแจ้งชนิดยางที่ส่งออก ไม่ตรงตามความเป็นจริง ดังนั้น สิ่งที่ กยท.มุ่งหวังในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงานครั้งนี้ หลักสำคัญคือ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพิ่มคุณภาพการให้บริการให้เกิดความรวดเร็ว และถูกต้องในการจัดเก็บข้อมูลค่าธรรมเนียม ท้ายสุด จะทำให้ตัวเลขการส่งออกยางพาราประเภทต่างๆ และประเทศผู้ซื้อปลายทาง มีความถูกต้อง สามารถช่วยในการพยากรณ์ปริมาณความต้องการใช้ยาง และประสิทธิภาพของระบบจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะสร้างประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ และผู้มีส่วนได้เสียในวงการยางพารา
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวถึงแนวโน้มราคายางพาราเดือนมี.ค.-เม.ย. 60 ว่า มีผลจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อยางรายใหญ่ของโลกที่ขยายตัวในอัตราคงที่ และเป็นช่วง low session ของการนำเข้ายางของจีนซึ่งสอดรับกับเป็นช่วงฤดูกาลปิดกรีดของประเทศไทย ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ดังนั้นคาดว่าราคายางในเดือนหน้าจะมีแนวโน้มปรับตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังคงรักษาระดับราคายางไว้ที่ 60-70 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคายางที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
"เมื่อเปรียบเทียบราคายางแผ่นดิบในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.560 ซึ่งเป็นช่วงที่ กยท.มีการระบายยางในสต๊อกกับราคายางแผ่นดิบในช่วงเดือนเดียวกันในปี 58 และ 59 จะเห็นได้ชัดเจนว่า ราคายางในของปี 60 มีราคาสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาเป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้การระบายสต๊อกยางจะมีผลต่อราคายางบ้างแต่ก็ไม่ทำให้ราคายางตกต่ำไปกว่าอดีตที่ผ่านมาและราคายางยังคงรักษาระดับไม่ต่ำกว่า 60-70 บาท/กิโลกรัม" นายธีธัช กล่าว