สนช.ผ่านร่างกม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ แม้ถอนตั้ง"บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"แต่เขียนข้อสังเกตให้ศึกษาภายใน 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 31, 2017 07:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับในวาระ 2 และวาระ 3 แล้วเมื่อดึกวานนี้ หลังใช้เวลาในการอภิปรายกว่า 6 ชั่วโมง โดยได้ถอนเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม แต่ได้เขียนข้อสังเกตในร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดของการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยใช้ระยะเวลาศึกษาภายใน 1 ปี

โดยสนช.ลงมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 227 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ขณะเดียวกันได้เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

นอกจากนี้สนช.ลงมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 216 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง ขณะเดียวกันได้เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯได้ถอนมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯได้เพิ่มเติมไปก่อนหน้านี้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียม ขณะที่มาตราดังกล่าวมีการถกเถียงกันในวงกว้าง

อย่างไรก็ตามได้มีการเขียนข้อสังเกตไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียม โดยระบุว่า โดยที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบนี้มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมนั้น ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีจึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company:NOC) ที่เหมาะสมภายใน 1 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ