พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ.โตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าเตรียมการเพื่อประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 โดยคาดว่าจะประมูลและรู้ผลประมูลได้ในเดือนธ.ค.60 ซึ่งยังเป็นไปตามแผนงานเดิม
ขั้นตอนต่อไปจะมีการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมการควบคู่กับการออกพ.ร.บ.อยู่แล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการออกกฎกระทรวงอีก 5 ฉบับ และประกาศ 1 ฉบับ เพื่อรองรับการดำเนินการประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 65-66 ในทั้ง 2 แหล่ง คือแหล่งบงกช และเอราวัณ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า 5 ปี รวมถึงการเตรียมการที่จะมีการขุดเจาะ โดยคาดว่ากฎกระทรวงและประกาศจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือนมิ.ย.และประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR) ในเดือนก.ค.และคาดว่าจะเปิดประมูลในธ.ค. 60 ซึ่งยอมรับว่าอาจมีความล่าช้า แต่ยังเป็นไปตามแผนที่จะเปิดประมูลในปี 60
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ทั้งนี้แม้ว่าพ.ร.บ.ปิโตรเลียมจะผ่านจากที่ประชุมสนช.แล้ว แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเลือกใช้ระบบสัมปทาน ,ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่ทั้งหมดต้องขึ้นกับการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการกำหนดระบบ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยืนยันว่า จะต้องเลือกระบบที่สามารถประมูลได้ง่าย ซึ่งจะมีการชี้แจงภาคประชาชนด้วย ส่วนการศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) นั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการจะประกอบไปด้วยนักวิชาการผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงาน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากภาคประชาชนซึ่งจะเป็นกลุ่มกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) หรือภาคประชาชนส่วนอื่น ๆ ก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านพลังงาน มีใจที่เปิดกว้างพร้อมรับฟังเหตุผล ไม่มีอคติ ซึ่งจะพยายามจัดตั้งให้เสร็จภายในกำหนด 60 วันหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการ
ทั้งนี้ จะศึกษาในทุกรูปแบบการจัดตั้ง NOC ที่มีอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งผู้ที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะใช้รูปแบบใดคือคณะกรรมการที่มีการจัดตั้งขึ้นตามมติครม. ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานให้ความสำคัญกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการจัดตั้ง NOC อยู่แล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษา ซึ่งผลการศึกษาจะรายงานกลับมาที่ กพช.ในเดือนพ.ค. นี้ โดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะนำผลการศึกษาของกระทรวงการคลังมาพิจารณาประกอบเพื่อศึกษาให้มีความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มขึ้น
"คงจะรอให้ NOC ออกมาก่อนไม่ได้ เพราะจะทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย ซึ่งเราจะมีการศึกาษควบคู่กันไป ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ คือ 1 ปี โดยยอมรับว่าเมื่อมีการศึกษาแล้วอาจจะต้องออกเป็นพ.ร.บ. ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงการคลังได้มีการตั้งกรรมการศึกษา แต่อาจจะให้หน่วยงานอื่น เช่น สภาพัฒน์ เข้ามาร่วมศึกษาด้วย รอผลหารือภายใน 60 วันก่อน"รมว.พลังงาน กล่าว
ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้กรมฯ ต้องเตรียมยกร่างกฎกระทรวงที่จำเป็นอีก 5 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมอีก 1 ฉบับ มารองรับการดำเนินการตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย
(1) ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม “หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม..."
(2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา53/1)
(3) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขและระยะเวลาการให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนำส่งค่าภาคหลวงแก่รัฐ (มาตรา53/6)
(4) กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (มาตรา53/2)
(5) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา53/9)
(6) กฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (มาตรา53/10)
ทั้งนี้ ระหว่างการจัดทำกฎหมายได้เตรียมกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ TOR เพื่อรองรับการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นอายุ ซึ่งคาดว่าหลักเกณฑ์ TOR จะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.60 โดยการเปิดประมูลขึ้นอยู่กับกฎหมายลำดับรองที่จะใช้เป็นเงื่อนไขในการประมูลต้องแล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีการประกาศ TOR และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ดำเนินงาน
นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่ากรมฯได้กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ซึ่งในปี 59 ได้รับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับสูงมาก จากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และมีการทำงานที่เน้นสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติสูงสุด ซึ่งจะเห็นจากการจัดหาปิโตรเลียมเพื่อรองรับความต้องการใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดเก็บรายได้ทั้งในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และอื่นๆ มูลค่าปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยการกำกับดูแลเป็นไปทั้งในรูปแบบที่ต้องส่งบุคลากรลงไปตรวจสอบในสถานประกอบกิจการ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล
ทั้งนี้ การดำเนินการรูปแบบดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรฐานสากล และตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมากรมฯได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ผ่านการฝึกอบรม การศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องปิโตรเลียมมาโดยตลอด ดังจะเห็นว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแม้บุคลากรน้อยแต่เป็นหน่วยงานรัฐที่สามารถกำกับดูแลให้สามารถจัดหารายได้ให้แก่รัฐได้