(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค.60 ขยายตัว 0.76%, Core CPI ขยายตัว 0.62%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 3, 2017 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มี.ค.60 อยู่ที่ 100.33 ขยายตัว 0.76% เมื่อเทียบกับมี.ค.59 แต่หดตัว -0.46% หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ก.พ.60) มีผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกขยายตัว 1.25%

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. 60 สูงขึ้นจากเดือนมี.ค.59 (YoY) 0.76% ได้รับผลกระทบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้น 3.30% (น้ามันเชื้อเพลิง อาทิ น้ามันดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 แก๊สโซฮอล์ E20 และน้ามันเบนซิน 95) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.68% (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง ไก่สด ปลาและ สัตว์น้ำ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น สูงขึ้น 0.45% หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา สูงขึ้น 0.56% (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาภาคเอกชน ค่าลงทะเบียน-ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาเอกชน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.44% (แชมพูสระผม ยาสีฟัน ค่าแต่งผม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ราคาสูงขึ้น 0.12% ขณะที่หมวดเคหสถานราคาลดลง -1.19% (ค่ากระแสไฟฟ้า น้ายาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า)

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.60 เมื่อเทียบเดือนก.พ. 60 (MoM) ลดลง -0.46% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลง -1.03% (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ลดลง -3.20%) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ -0.62%ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ผักและผลไม้สด ขณะที่ หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และหมวดเคหสถาน ราคาสูงขึ้น 0.01% จากราคาสุรา ค่าเช่าบ้านในพื้นที่กทม. ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา ราคาสูงขึ้น 0.07% (เครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยง) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.14% (เสื้อเชิ้ต สตรี ค่าจ้างซักรีด กางเกงขายาวบุรุษ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 0.15% (ผ้าอนามัย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว)

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 101.11 ขยายตัว 0.62% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.59 และหากเทียบ ก.พ.60 ขยายตัว 0.04% มีผลให้ Core CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกขยายตัว 0.66%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับ มี.ค.59 แต่หากเทียบกับ ก.พ.60 ลดลง -0.62% ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 100.12 ขยายตัว 0.83% จากเดือน มี.ค.59 แต่ลดลง -0.36% จากเดือน ก.พ.60

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.60 ที่สูงขึ้น 0.76% จากช่วงเดียวกันของของปีก่อน แต่ลดลง 0.46% จากเดือนก.พ.60 นั้น เป็นผลจากทิศทางการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศ ประกอบกับราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้สดยังคงลดลงจากเดือนก.พ.60 สาเหตุมาจากอุปทานส่วนเกินของผักและผลไม้บางชนิดในช่วงฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานน้ำมันเริ่มลดลงเช่นเดียวกับอิทธิพลจากการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่อยู่ในระดับทรงตัว ในส่วนของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้น ระดับราคาสินค้าค่อนข้างทรงตัว มีเพียงสินค้าบางชนิดที่ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเป็นผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินในตลาด อาทิ เนื้อสุกร ไข่ไก่

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาส 1/60 สูงขึ้น 1.25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนั้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นทั้งในส่วนของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ, อาหารสด, เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น หมวดเคหะสถาน, ค่ากระแสไฟฟ้า และอาหารประเภทข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ