น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Executive Order) เพื่อดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของคำสั่งดังกล่าว ซึ่งในเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ จะเชิญผู้ประกอบการและภาคเอกชนที่อาจได้รับผลกระทบมาหารือเพื่อหาแนวทางการรับมือมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้กับไทย
นอกจากนี้ยืนยันว่า ไทยไม่มีนโยบายปั่นค่าเงิน หรือใช้นโยบายค่าเงินบาทอ่อนค่า เพื่อหวังผลทางการค้ากับสหรัฐฯ แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไก และตามธรรมชาติ
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศควบคู่กับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
"เข้าใจดีว่าสหรัฐฯ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายการค้า และนโยบายต่างๆ แต่กระทรวงพาณิชย์ จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และรัฐบาลสหรัฐฯต่อไป อย่างไรก็ตาม การลงนามคำสั่งของประธานาธิบดี ทำให้ไทยติดร่างแห เพราะไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 11 ซึ่งสร้างความกังวลให้กับไทย เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักในการส่งออก" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
สำหรับจุดอ่อนของไทยที่เป็นปัญหากับสหรัฐฯ ขณะนี้ และสหรัฐฯ อาจหยิบยกมากำหนดเป็นมาตรการใช้กับไทย หรือไม่ปลดไทยออกจากการถูกขึ้นบัญชี เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, การใช้แรงงานผิดกฎหมายในสินค้าประมง อ้อย สิ่งทอ, การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่อาจตัดสิทธิสินค้าไทยบางรายการ, สินค้าไทยบางรายการถูกสหรัฐฯใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนการทุ่มตลาด (AD/CVD) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการใดๆ กับไทย ขอเรียกร้องให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกมิติที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง การศึกษา วัฒนธรรม เป็นต้น
รายงานข่าว แจ้งว่า เมื่อ 31 มี.ค.60 USTR ได้เผยแพร่รายงานการประเมินผลด้านการค้าของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศประจำปี 60 (2017 National Trade Estimate Report on Foreign Trade) โดยระบุว่า ปี 59 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับไทยมูลค่า 18,900 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 8.7% หรือ 1,500 ล้านเหรียญฯ จากปี 58 โดยสหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามาไทยมูลค่า 10,600 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.9% หรือลดลง 658 ล้านเหรียญฯ ขณะที่นำเข้าจากไทย 29,500 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 3%
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งในด้านการส่งออกและการนำเข้า ตลอดจนภาคเอกชนที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ และนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในไทยมาหารือร่วมกัน เพื่อประเมินผลกระทบหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งพิเศษเพื่อดำเนินการตรวจสอบการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับ 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย
โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงผลกระทบในระยะยาวได้ เพราะต้องรอการหารือร่วมกันก่อน แต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยปี 60 ขยายตัว 5% จากปี 59 ไว้ตามเดิม
"เราได้รับข้อมูลจากคำสั่ง 2 ฉบับที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนาม ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดก่อนว่ามีสินค้าอะไรที่ส่งออกไปสหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐฯบ้าง แต่ส่วนใหญ่สินค้าที่ส่งออกจะเป็นขั้นกลาง หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปอีกที ซึ่งจะมีการหารือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด โดยในด้านการค้า ไทยยืนยันว่าทำการค้ากับประเทศทั่วโลก ไม่เฉพาะสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ชัดเจนสุดคือ ไทยไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน ที่ผ่านมา ไทยมักถูกบ่นว่าค่าเงินแข็งค่าสุดในภูมิภาค เป็นเครื่องพิสูจน์ชัดเจนว่า ไทยไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน" รมว.พาณิชย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ไทยและสหรัฐฯมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในเรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพที่จะร่วมมือด้านพันธมิตรทางการค้า ใช้ความเข้มแข็งที่สหรัฐฯ มีในสาขาวิจัยและพัฒนา มาร่วมมือกับไทยและส่งออกไปประเทศที่ 3 และไทยก็สนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศรวมถึงสหรัฐฯ เช่น อาหาร ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ซื้อกิจการอาหารในสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่าไทยและสหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือต่อกันในหลายด้านๆ ได้