ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนมี.ค.60 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.0 จากเดิมที่ระดับ 45.3 ในเดือนก.พ.60 ขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 46.2 ในเดือนมี.ค.60 จากเดิมที่ระดับ 45.3 ในเดือนก.พ.60 สะท้อนถึงความกังวลที่ลดลงของครัวเรือนต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน แต่อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภคที่อาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
ในขณะที่ความเชื่อมั่นของครัวเรือนประจำเดือนมี.ค.60 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลต่อประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำ ประเด็นเรื่องเงินออม รวมถึงประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลลดลงในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นผลจากการปลดภาระหนี้สินในหลายส่วนของครัวเรือน ทั้งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากนโยบายรถยนต์คันแรก สินเชื่ออุปโภคบริโภค (หนี้บัตรเครดิต) จากการเร่งซื้อไปในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากการนำเงินตอบแทนพิเศษ (Bonus) มาชำระคืนหนี้
ครัวเรือนเป็นกังวลในเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อรายได้และภาวะการมีงานทำปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 48.1 ในเดือนมี.ค.60 จากเดิมที่ระดับ 49.6 ในเดือนก.พ.60 โดยในประเด็นเรื่องภาวะการมีงานทำนั้น ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ภาวะการมีงานทำของครัวเรือนช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2560 กลับมามีความเปราะบางและไม่แน่นอนมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี เนื่องด้วยธุรกิจ, องค์กร, หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดมีการปรับตัวทางธุรกิจในด้านการจ้างงานโดยการปรับลดคนงานหรือการเลิกจ้าง เพิ่มขึ้นจาก 9.2% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในเดือนม.ค.60 มาอยู่ที่ 11.7% ในเดือนมี.ค.60 สอดรับกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในเดือนก.พ.60 จากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อ
ในส่วนของประเด็นเรื่องค่าจ้างของครัวเรือนนั้น ผลการสำรวจภาวะการครองชีพชี้ให้เห็นว่า มากกว่าครึ่งของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (57.5%) ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีในปี 2560 โดยมีเพียง 41.4% ของครัวเรือนได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างนั้น เป็นไปในอัตราที่น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราการปรับขึ้นค่าจ้างในปีก่อนหน้า
"ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนแห่งเทศกาล สถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นครัวเรือนได้" เอกสารเผยแพร่ระบุ