ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 คนกรุงเทพฯ มีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 23,000 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วอันเป็นผลจากคนกรุงเทพฯ ยังคงกังวลในเรื่องของค่าครองชีพ อีกทั้งคนกรุงเทพฯ บางส่วนได้มีการใช้จ่ายไปแล้วในช่วงปลายปีก่อนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่ออกมา ทำให้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และอาจจะไม่ได้หนุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากเท่าปีก่อน
"ผลสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 64 หันมาปรับพฤติกรรมและกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ลง เช่น ลดการกินเลี้ยงสังสรรค์รื่นเริง มาเป็นการกินเลี้ยงเล็กๆ ในกลุ่มครอบครัวหรือเพื่อนฝูง รวมถึงลดการซื้อของขวัญหรือ ช็อปปิ้งของที่ไม่จำเป็นลง เป็นต้น" เอกสารเหยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ ความไม่สะดวกในการเดินทาง สภาพอากาศที่ร้อน และไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเช่นเดียวกับปีก่อน ทำให้บรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้อาจจะไม่คึกคักมากนัก สอดรับกับรูปแบบของการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ที่ยังคงงดกิจกรรมรื่นเริง เน้นรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น กิจกรรมรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น
ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 แยกเป็น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 8,800 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 5,800 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,400 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,000 ล้านบาท และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ค่าเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ / ดูหนังฟังเพลง/ เล่นน้ำสงกรานต์ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงิน 23,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน
สงกรานต์ปีนี้คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 44.0 วางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน: รองลงมาคือ กลับบ้านต่างจังหวัด (ร้อยละ 34) และท่องเที่ยว (ร้อยละ 22) โดยกิจกรมหลักที่คนกรุงฯ วางแผนจะทำคือ การนัดเลี้ยงสังสรรค์ พักผ่อนอยู่บ้านและทำบุญตักบาตร ตามลำดับ
"การนัดเลี้ยงสังสรรค์ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมนั้น จากผลการสำรวจจะพบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความนิยมนัดเลี้ยงสังสรรค์ตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ามากที่สุด รองลงมาคือ ร้านอาหารทั่วไปและสั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ตามลำดับ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การนัดเลี้ยงสังสรรค์ตามร้านอาหาร (ทั้งร้านอาหารทั่วไปและในห้างสรรพสินค้า) มีสัดส่วนที่ลดลง แต่ไปเพิ่มในส่วนของการสั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่มากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตว่า ในปีนี้คนกรุงเทพฯ ปรับลดโปรแกรมท่องเที่ยวและหันมาทำกิจกรรมพักผ่อนอยู่กับบ้านมากขึ้น อาทิ ดูหนัง/ ดูทีวี เล่น Social Media ติดตามความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ รวมถึงการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเดลิเวอรี่มารับประทานภายในบ้าน (เนื่องจากสะดวก ง่าย อากาศร้อน ไม่อยากเปียกน้ำ ร้านประจำปิดบริการ ฯลฯ) ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคในลักษณะนี้ อาจทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาปรับแนวทางการทำตลาด เพื่อดึงกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ให้หันมาจับจ่ายใช้สอยให้ได้ แม้ว่าจะไม่ออกจากบ้าน
สำหรับธุรกิจที่ตอบโจทย์แนวทางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ยังมีโอกาสทำตลาดหรือเพิ่มยอดขายในช่วงสงกรานต์ปีนี้ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ (E-Commerce) อย่างกลุ่มสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ธุรกิจบันเทิงออนไลน์ (Online Entertainment) ไม่ว่าจะเป็น ดูหนัง/ฟังเพลงออนไลน์ ทีวีออนไลน์ เกมออนไลน์ รวมถึงธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery Service) ทั้งร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหารที่มีบริการส่งถึงที่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบสนองวิถีคนเมืองที่นิยมความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่อยากต่อคิวหรือออกจากบ้าน อีกทั้งรูปแบบการให้บริการยังสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลากับสังคมออนไลน์มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ที่เข้าถึง Social Media อยู่เป็นประจำ ทำให้คาดว่าธุรกิจกลุ่มนี้ น่าจะมีโอกาสทางการตลาดและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในช่วงสรานต์ได้มากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่ได้อานิสงส์ในช่วงสงกรานต์อยู่แล้ว เช่น ร้านอาหารทั่วไป ค้าปลีก ปั๊มน้ำมัน/ แก๊ส ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยเทคนิคการทำตลาดที่โดนใจยังสามารถดึงกำลังซื้อคนได้ ภายใต้พฤติกรรมคนกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต แม้ว่าจะเป็นอีกปีที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ แต่เทศกาลสงกรานต์ก็ถือเป็นหนึ่งในอีเว้นท์ใหญ่ของปีที่จะสามารถใช้กระตุ้นยอดขายได้ แต่ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับรูปแบบการทำตลาดและเตรียมความพร้อมของธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมทางการตลาดผ่านกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม ยังคงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้กระตุ้นยอดขายและกำลังซื้อผู้บริโภคได้ดี โดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจที่ระบุว่า หากมีกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม จะทำให้คนกรุงเทพฯ หันมาตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของมากที่สุด (ร้อยละ 39) รองลงมาคือ การจัดอีเว้นท์ร่วมสนุก/ชิงรางวัล (ร้อยละ 24) และผ่อนชำระ 0% (ร้อยละ 18)
ช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคเป้าหมายให้ได้มากที่สุดที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ให้การตอบรับที่ดียังคงได้แก่ การโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ (ร้อยละ 63) แต่อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจพบว่า การโฆษณาผ่าน Facebook (ร้อยละ 46) และ Application ต่างๆ อาทิ Line Instagram (ร้อยละ 17) เป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมที่ไต่อันดับมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำการตลาดผ่านช่องทางนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้เข้าถึงช่องทางการสื่อสารเหล่านี้อยู่เป็นประจำ
การเตรียมพร้อมธุรกิจในการทำตลาดช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่บางธุรกิจหยุดกิจการ แต่หากพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการช่วงสงกรานต์ ทั้งพนักงานที่ให้บริการ สต๊อกสินค้าที่พร้อมจะส่ง ช่องทางในการส่งสินค้าและบริการไปถึงมือลูกค้า ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำตลาดให้ผู้ประกอบการได้
สร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจ ซึ่งอาจจะทำเป็นหนังสั้นผ่านช่องทาง Social Media เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่ผูกโยงไปถึงธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าการทำการตลาดในลักษณะนี้ อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนมาในรูปแบบของรายได้ที่ชัดเจนในช่วงสงกรานต์ แต่จะทำให้เกิดความสนใจและพูดถึงแบรนด์ในวงกว้าง สร้างการจดจำและรับรู้ในหมู่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อยอดขายของธุรกิจในระยะข้างหน้าได้