ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปี 2560 นี้ (ปีเพาะปลูก 2559/60) น่าจะอยู่ที่ราว 6.8 - 7.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ข้าวนาปรังมีผลผลิตอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในสภาวะที่ดีขึ้นทำให้ในปีนี้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานล่าสุดรวมกันอยู่ที่ราว 11.3 ล้านไร่ ขณะที่ปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังอยู่ที่เพียง 5.55 ล้านไร่
สำหรับข้าวนาปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 นี้ (ปีเพาะปลูก 2560/61) น่าจะอยู่ที่ราว 24.5 - 25.5 ล้านตัน โดยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2559 ที่ผลผลิตของข้าวนาปีอยู่ที่ 25.4 ล้านตัน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ที่อาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงได้ แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเกิดสภาวะเอลนีโญกำลังแรงเมื่อปลายปี 2558
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามสถานการณ์โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพราะหากในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์พลิกกลับเป็นสภาวะลานีญาหรือปริมาณฝนมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีสูงกว่านี้ได้ นอกจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสมของภาครัฐ เนื่องจากอาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า อันเป็นเหตุให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวลดลงและทำให้ผลผลิตข้าวต่ำกว่าที่คาดการณ์ได้
สำหรับทิศทางการส่งออกข้าวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2560 น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าราว 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ระดับเกือบ 10 ล้านตัน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นปริมาณขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีราว 1 ล้านตัน โดยตลาดข้าวไทยที่สำคัญอยู่ในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ไทยส่งออกข้าวเป็นมูลค่ารวมกันราว 80% ของมูลค่าส่งออกข้าวไทยทั้งหมด
ขณะที่ในส่วนของราคาส่งออกข้าวไทยยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจได้รับแรงกดดันจากผลผลิตและระดับสต๊อกข้าวของโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกข้าวมากขึ้นในปีนี้ รวมถึงนโยบายระบายสต๊อกข้าวของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกข้าวไทยได้
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบของภัยแล้งในช่วงปี 2558 ถึงกลางปี 2559 ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและหนักสุดในรอบ 20 ปีนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรไทยอย่างกว้างขวาง จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในช่วง พ.ค.-ธ.ค. 2560 จะเป็นเช่นไร เพื่อนำมาซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดภัยแล้งขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ เพื่อประเมินว่าปีนี้จะเกิดปัญหาภัยแล้งอีกหรือไม่ อาจพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) ปริมาณน้ำฝนสะสมในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยในช่วงต้นปี 2559 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พ.ศ. 2524-2553) ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งและส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่ตั้งแต่เดือนก.ย. 2559 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนสะสมยืนอยู่เหนือค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งช่วยให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่งทั่วประเทศในเดือนมี.ค. 2560 อยู่ระดับที่สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2559
2) ปริมาณน้ำในเขื่อนของไทย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของไทยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดย ณ วันที่ 17 มี.ค. 2560 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 34 อ่างทั่วประเทศอยู่ระดับ 42,550 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 60% ของความจุ ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างที่ใช้ได้จริงจะอยู่ที่ 19,024 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 27% ของความจุ ทั้งนี้ หากเทียบกับวันเดียวกันของปี 2559 1 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงถือว่ามีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงเพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับ 4 เขื่อนหลักในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะพบว่ามีปริมาณน้ำใช้ได้จริง 6,032 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้ได้จริงเพียง 2,660 ล้านลูกบาศก์เมตร
3) ดัชนีชี้วัดปรากฏการณ์เอลนีโญ – ลานีญา (Oceanic Niño Index: ONI) แสดงให้เห็นว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 มีโอกาสที่จะเกิดเอลนีโญกำลังอ่อน โดยดัชนี ONI เป็นดัชนีที่คำนวณจากค่าอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเล (Sea surface temperature: SST) ที่เปลี่ยนไปจากค่าอุณหภูมิน้ำทะเลปกติของพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิก (บริเวณโซน 3.4 หรือ Niño 3.4 region) ใช้เป็นตัวทำนายปรากฏการณ์และประเมินระดับความรุนแรงของเอลนีโญ – ลานีญาของโลก ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยส่วนใหญ่ต่ำกว่าค่าปกติ และในสภาวะที่เกิดรุนแรงมากขึ้นก็จะทำให้ปริมาณฝนต่ำกว่าปกติมากขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุดค่าดัชนี ONI อยู่ที่ -0.41 (ขณะที่ดัชนี ONI ในช่วงก่อนหน้าเท่ากับ -0.73) 2 ซึ่งแสดงถึงการเข้าสู่สภาวะปกติ (Neutral)
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จะยังคงอยู่ในสภาวะปกติ ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 มีความเป็นไป ได้ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน 3 หรืออาจอยู่ในสภาวะปกติต่อไป ขณะที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่จะเริ่มเกิดสภาวะลานีญาอีกครั้ง
จากปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วทำให้ปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 34 อ่างทั่วประเทศในปี 2560 ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2559 อย่างไรก็ดี แม้ทางภาครัฐจะได้เตรียมแผนการช่วยเหลือภัยแล้งในด้านการเกษตรสำหรับปี 2560 ไว้ ไม่ว่าจะเป็นแผนการจัดสรรน้ำ แผนการเพาะปลูกพืชแผนการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งด้านการเกษตรแต่ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับสูงกว่า 11 ล้านไร่ ขณะที่แผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังอยู่ที่เพียง 6.93 ล้านไร่ ทำให้ทางกรมชลประทานต้องขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 และลดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรเพราะอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ตลอดจนน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำหรับข้าวนาปีหากเกิดฝนทิ้งช่วง
โดยสำหรับการเพาะปลูกข้าวในปี 2560 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับข้าวนาปรัง (ปีเพาะปลูก 2559/60) ที่ปลูกในเขตชลประทานน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเท่าใดนัก แต่จะมีความเสี่ยงสำหรับพื้นที่ที่จะเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 จากกรณีที่ทางกรมชลประทานได้เริ่มลดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว รวมทั้งข้าวนาปรังที่ปลูกในพื้นที่นอกเขตชลประทาน สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2560 มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงได้ แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงนัก ซึ่งหากภาครัฐและเกษตรกรติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นไว้เป็นอย่างดีแล้ว การเพาะปลูกข้าวนาปี (ปีเพาะปลูก 2560/61) ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค. 2560 เป็นต้นไปนี้น่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี