SCB EIC หวั่นพิษเลือกตั้งในยุโรปปั่นเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกป่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 5, 2017 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งผู้นำในยุโรปตลอดปี 2017 เป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความอยู่รอดของสหภาพยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัว ความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรปกลับเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ทุกเมื่อ รวมถึงส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนไหวของเงินทุน และการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งผลการเลือกตั้งในประเทศที่สำคัญ จะเป็นเครื่องชี้วัดความนิยมของประชาชนต่อแนวคิดการรวมตัวกันทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (European Union: EU) โดยความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจใน EU ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้เงินสกุลเดียวกันยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความแตกร้าว และอาจเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU

ทั้งนี้การเลือกตั้งผู้นำในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี เป็นสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ครอบคลุม 65% ของเศรษฐกิจยูโรโซนทั้งหมด และจะกำหนดชะตาของ EU

โดยการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศสมีโอกาสเกิด Frexit ได้ยาก แม้ Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งผู้นำของฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน และ 7 พฤษภาคม ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนมาแล้ว โดยสะท้อนผ่านส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสและพันธบัตรเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ในวันที่ Marine Le Pen แถลงนโยบายว่าต้องการนำฝรั่งเศสออกจาก EU

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจล่าสุดของ Financial Times ณ วันที่ 29 มีนาคม บ่งชี้ว่า Marine Le Pen ผู้นำจากพรรค National Front พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในสองผู้สมัครที่สามารถเข้าไปถึงการเลือกตั้งรอบสุดท้าย แต่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่จะชนะการเลือกตั้งรอบสุดท้ายและขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป โดยอาจพ่ายแพ้ให้กับ Emmanuel Macron อดีตแกนนำพรรครัฐบาลที่ผันตัวเป็นผู้สมัครอิสระ นอกจากนี้ถึงแม้ว่า Marine Le Pen จะชนะการเลือกตั้งในโค้งสุดท้ายและได้เป็นประธานาธิบดี เธอก็ไม่สามารถจัดตั้งประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ได้ในทันที เนื่องจากยังต้องผ่านกระบวนการและความเห็นชอบของรัฐสภา อีกทั้งจากผลสำรวจของ Ifop เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 พบว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสกว่า 67% ยังเลือกที่จะอยู่ใน EU ต่อไป

ส่วนการเลือกตั้งที่เยอรมนีมีกระแสการต่อต้านผู้อพยพกดดันคะแนนนิยมต่อ Angela Merkel ในการชิงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 4 การลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ของ Angela Merkel ท้าทายมากกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากที่เธอต้องนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและฟันฝ่าความนิยมที่มีมากขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด เธอยังต้องต่อสู้กับกระแสการต่อต้านผู้อพยพในเยอรมนีที่ทำให้คะแนนความนิยมของเธอลดลง โดยนโยบายการควบคุมจำนวนผู้อพยพของพรรคการเมืองขวาจัด The Alternative for Germany (AfD) ทำให้พรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดที่จะแยกตัวออกจาก EU สามารถเอาชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ในบางรัฐได้ อย่างไรก็ตาม ความนิยมของพรรค AfD ในการเลือกตั้งผู้นำเยอรมนียังมีไม่มากนัก โดยคู่แข่งคนสำคัญของ Merkel กลับเป็น Martin Schulz อดีตประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป ผู้นำจากพรรค Social Democrats (SPD) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุน EU ประเด็นการแยกตัวออกจาก EU ของเยอรมนีจึงถือว่าไม่เป็นที่น่ากังวล

ขณะที่การเลือกตั้งที่อิตาลีนั้นความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด Five Star Movement (M5S) อาจนำมาซึ่งการถอนตัวออกจาก EU หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพ่ายแพ้ในการลงประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐสภาในช่วงปลายปี 2016 คะแนนนิยมของพรรคที่ต่อต้าน EU อย่าง Five Star Movement (M5S) ก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันความนิยมในเงินสกุลยูโรของชาวอิตาลียังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 41% จากผลสำรวจของ Eurobarometer

ทั้งนี้ กระแสการต่อต้าน EU ที่เพิ่มขึ้นในอิตาลี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง โดยเฉพาะในภาคธนาคารที่มีหนี้เสียถึง 18% โดยอิตาลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เงินสกุลเดียวและกฎเกณฑ์ของ EU ทั้งนี้ การใช้เงินสกุลเดียวทำให้เศรษฐกิจที่อ่อนแอของอิตาลีฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากค่าเงินยูโรยังคงผูกกับเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งกว่าอย่างเยอรมนี ซึ่งทำให้เงินยูโรไม่อ่อนค่าลงเท่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ อิตาลียังเคยประสบปัญหาจากกฎเกณฑ์ของ EU ในประเด็นที่รัฐบาลอิตาลีต้องการนำเงินทุนไปช่วยเหลือภาคธนาคารที่กำลังประสบปัญหา (bail out) แต่เนื่องจากกฎใหม่ของ EU กำหนดให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของธนาคารที่ประสบปัญหาต้องรับผลสูญเสียอย่างน้อย 8% ของหนี้สินของธนาคาร ก่อนที่ภาครัฐจะใช้เงินเข้าช่วยได้ (bail in) ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แม้ประเด็นดังกล่าวเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ก็มีประชาชนไม่น้อยที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและต้องการให้อิตาลีออกจาก EU

"ชัยชนะของพรรคการเมืองที่ต่อต้าน EU อาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินคล้ายกรณีของผลโหวต Brexit ที่ผลการเลือกตั้งออกมาเหนือความคาดหมายอาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุน โดยอาจเกิดการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง ทั้งนี้ผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากนักลงทุนในตลาดการเงินต่างมั่นใจว่า Macron จะเป็นผู้ชนะ สะท้อนจากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสและพันธบัตรเยอรมนี และส่วนต่างสัญญารับประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (credit default swaps) ของฝรั่งเศสที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดอาจทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง แต่อาจไม่รุนแรงเท่าในกรณีของค่าเงินปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ร่วงลงกว่า 13% ในวันประชามติ Brexit เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่บ่งชี้ว่าฝรั่งเศสจะสามารถจัดทำประชามติ Frexit ได้จริง ทั้งนี้จากผลสำรวจของ Bloomberg นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า หาก Le Pen พลิกล็อคชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง 7% สู่จุดต่ำสุดในรอบ 15 ปี ที่ระดับ 1 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐฯ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายขวาอาจนำไปสู่ความแตกร้าวของ EU และเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียตามมา ในแง่ของผลดี การกลับมาใช้เงินสกุลของตนเองจะมาพร้อมอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศของตนได้ในระยะยาว อีกทั้งค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่าในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอกว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออก ลดการนำเข้า ซึ่งทำให้เงินทุนสำรองสะสมของประเทศมีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทางออกให้กับหลายๆ ประเทศได้ อีกทั้งอิสรภาพทางการเมืองหลังแยกตัวออกจาก EU จะช่วยแก้ปัญหาที่เรื้อรังมาจากกฎเกณฑ์ของ EU โดยเฉพาะประเด็นผู้อพยพที่มักถูกนำมาใช้เพื่อการหาเสียง

อย่างไรก็ดี การยกเลิกเงินสกุลยูโรอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากนักลงทุนอาจยังไม่เชื่อมั่นในเงินสกุลใหม่และภาวะเศรษฐกิจภายหลังการแยกตัวออกจากยูโรโซนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ค่าเงินสกุลใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างฉับพลัน ทั้งนี้ ในกรณีของฝรั่งเศส พันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านยูโรจะต้องถูกเปลี่ยนสกุลเงินเป็น franc และค่าเงิน franc ที่อาจร่วงหนักจะกระทบต่อผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวในทันที ความกังวลนี้จะทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรและส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น

นอกจากนี้เงิน franc ที่อ่อนค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมและกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤตหนี้สาธารณะอย่างกรีซก็อาจประสบปัญหาหนักจากหนี้ที่จะแพงขึ้นหากกลับมาใช้เงินสกุล drachma เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของกรีซจะยังคงอยู่ในสกุลเงินยูโร โดยเงิน drachma ที่อ่อนค่าจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้กับกรีซและอาจทำให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ไปเรื่อยๆ

สำหรับกรณีของอิตาลี ปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคารอาจถูกซ้ำเติมจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงซึ่งทำให้ต้นทุนการเพิ่มทุน (recapitalization) จากต่างประเทศสูงขึ้น และอาจจุดประกายปัญหาหนี้เสียจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้กรณีที่รัฐบาลมีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอย่างไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) อย่างที่เกิดขึ้นในรัสเซียเมื่อปี 1992 ทั้งนี้แม้การยกเลิกการใช้เงินยูโรจะเกิดขึ้นเพียงประเทศเดียว แต่ผลกระทบอาจเกิดขึ้นเป็นวงกว้างเนื่องจากทุกประเทศในยูโรโซนต่างมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจเลื่อนการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบเข้มงวดออกไป หากเหตุการณ์ทางการเมืองกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดย ECB อาจยังไม่สามารถปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative Easing: QE) ได้ จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับลดวงเงิน QE จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 เป็นต้นไป อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติอาจเป็นไปได้ช้าลง จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019

ในระยะยาวการถอนตัวของสมาชิก EU อาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนซบเซาเพิ่มแรงกระทบต่อภาคส่งออกไทย แต่อาจเปิดโอกาสให้มีการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ที่เป็นประโยชน์กับไทยมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันที่อาจเกิดขึ้นในยูโรโซนจากการถอนตัวออกจาก EU และการยกเลิกเงินสกุลยูโรในบางประเทศอาจกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ โดยหากเศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 1% ความต้องการสินค้านำเข้าของยูโรโซนอาจลดลงกว่า 1.5% ทั้งนี้การส่งออกไทยไปยังยูโรโซนคิดเป็น 9% ของส่งออกไทยทั้งหมด นำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ

อย่างไรก็ดี การถอนตัวออกจาก EU ในบางประเทศอาจเป็นประโยชน์ต่อไทยในแง่ของการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี ที่ในปัจจุบัน ASEAN และ EU ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันได้ แม้จะเริ่มการเจรจามาตั้งแต่ปี 2007 โดยประเทศที่ถอนตัวออกจาก EU อาจดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับไทยหรือ ASEAN ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการเจรจาที่มีข้อจำกัดน้อยลง เนื่องจากไม่ถูกขัดขวางจากความต้องการที่ซับซ้อนของสมาชิก EU เช่น กรณีของ Brexit ที่ UK เตรียมเร่งจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายประเทศ และผู้นำของ UK เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ